สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (23 พ.ย. 66) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 61,480 ล้าน ลบ.ม. (81% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 37,540 ล้าน ลบ.ม. (72% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 18,440 ล้าน ลบ.ม. (74% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ปริมาณน้ำใช้การได้ 11,744 ล้าน ลบ.ม. (65% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ทั้งประเทศไปแล้วกว่า 2,541 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 12% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 403 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 7% ของแผนฯ ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงฤดูฝนที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลดีต่อระบบนิเวศ ทำให้ปัจจุบันค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาและการเพาะปลูกพืชแต่อย่างใด
ด้านพื้นที่ตอนบนของประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการใช้น้ำตามแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่จัดสรรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ที่สำคัญต้องสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนและพื้นที่เพาะปลูก พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้สำรวจแหล่งน้ำธรรมชาติ อาทิ แก้มลิง และบึงต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ให้ได้มากที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ปฏิบัติตาม 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2566/67 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือไว้ประจำจุดเสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ทันที
นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือหน่วยงานท้องถิ่น ให้ร่วมกันกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เกษตรกรและประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
ส่วนพื้นที่ภาคใต้ ที่ยังคงมีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65/66 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด