นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดตาก พร้อมด้วย นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายวีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงฯ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับในพื้นที่ โดยร่วมรับฟังการบรรยายสรุปผลการปฏิบัติการฝนหลวง ในปี 2566 ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM 2.5) ปัญหาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ไฟไหม้ป่า รวมถึงเกษตรกรได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญที่ทำให้ฝนตกน้อย แต่มีความต้องการน้ำในการทำเกษตรกรรมเป็นจำนวนมากจากผลกระทบดังกล่าว รมช.ไชยา ได้มอบหมายกรมฝนหลวงฯ เติมน้ำลงเขื่อน เพื่อบรรเทาปัญหาเอลนีโญ แต่ในฤดูแล้งน้ำอาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งต้องสร้างมวลเมฆขนาดใหญ่กว่าปกติให้ตกลงมาเป็นฝน เชื่อมั่นว่าน้ำฝนจะเพียงพอต่อการใช้งาน
ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เปิดปฏิบัติการ โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ รวม 20 หน่วย ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 15 ตุลาคม 2566 ปฏิบัติการฝนหลวง 193 วัน รวม 4,097 เที่ยวบิน มีฝนตก 186 วัน คิดเป็น ร้อยละ 96.37 มีรายงานฝนตก 67 จังหวัด มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากปฏิบัติการฝนหลวง 193.94 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 272 แห่ง แบ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 34 แห่ง และขนาดกลาง 238 แห่ง เกิดปริมาณน้ำสะสม 615.21 ล้าน ลบ.ม. พร้อมทั้งจัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 3 หน่วย ปฏิบัติการระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม ถึง 31 ตุลาคม 2566 รวม 14 วัน จำนวน 91 เที่ยวบิน ทำให้มีในตกทั้ง 14 วัน คิดเป็น 100 % ในพื้นที่ 11 จังหวัด มีพื้นที่รับประโยชน์ 17.5 ล้านไร่ มีฝนตกน้ำเข้าเขื่อนขนาดใหญ่ 6 แห่ง และอ่างเก็บน้ำ 57 แห่ง รวมปริมาณน้ำสะสม 21.55 ล้าน ลบ.ม.
“กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมฝนหลวงฯ ได้ศึกษางานวิจัยการใช้จรวดทำฝนเทียมอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้นำงานวิจัยมาปรับใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การสร้างบั้งไฟบรรจุสารก่อฝนเทียม โดยประเพณีบุญบั้งไฟเดือนหกจะมีการจัดทำบั้งไฟและจุดบั้งไฟขึ้นสู่ฟ้า เพื่อขอฝนกับพญาแถนตามความเชื่อของภาคอีสาน ซึ่งปัจจุบันบั้งไฟมีความสูงใกล้เคียงกับเครื่องบินสำหรับโปรยสารเคมีทำฝนหลวง และหากพัฒนาบั้งไฟฝนเทียมสำเร็จจะสามารถลดต้นทุนได้มากกว่าการใช้เครื่องบิน จึงขอให้กรมฝนหลวงฯ ทำการศึกษาวิธีการใช้วิทยาศาสตร์ควบคู่กับภูมิปัญญาเพื่อยกเป็นหนึ่งใน SOFT POWER” รมช.ไชยา กล่าวเพิ่มเติม นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยฯ ไชยา จะทำหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนในการขอใช้พื้นที่สนามบินอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมให้กับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป