นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการธนาคารน้ำใต้ดินจังหวัดชัยนาท พร้อมด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ณ อาคารศูนย์เรียนรู้และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เขื่อนเจ้าพระยา อําเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ว่า ตามนโยบายของรัฐบาล “ไม่ท่วมไม่แล้ง” ที่ได้ผลักดันโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน โดยการนําน้ำใต้ดินมาใช้ในฤดูแล้ง ให้มีการกักเก็บน้ำใต้ดินให้มากที่สุด ทั้งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง พื้นที่ประสบภัยแล้ง การเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน การเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดิน ลดปริมาณน้ำเสีย ทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม โดยธนาคารน้ำใต้ดิน จะทําหน้าที่เป็นเครื่องมือสําคัญ ในการจัดการทรัพยากรน้ำ เพราะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ช่วยให้ประชากรในสังคมปรับตัวให้อยู่รอดจากภัยแล้งได้ และยังช่วยลดการพึ่งพาการสูบน้ำบาดาลที่ไม่ยั่งยืน
“เชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าว จะสามารถแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน ช่วยให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมให้การสนับสนุนในพื้นที่ โดยการส่งเสริมการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ สนองนโยบายของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่มีความห่วงใยและให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และให้มีการกักเก็บน้ำให้มากที่สุด โดยได้ผลักดันให้จังหวัดชัยนาท เป็นจังหวัดนำร่องดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” รมช.อนุชา กล่าว
ทั้งนี้ จังหวัดชัยนาท เป็นจังหวัดนำร่องที่ดําเนินการโครงการธนาคารน้ำใต้ดินครอบคลุมทั้งจังหวัด และจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน (War Room) เพื่อให้เป็นที่ดำเนินงาน ประสานงาน สรุปผลการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาจากการดำเนินงาน การติดตามผลการดำเนินงาน หรือเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำใต้ดิน ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างยั่งยืนได้ สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล “ไม่ท่วมไม่แล้ง” ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลแท้จริง โดยบูรณาการความร่วมมือกันทุกภาคส่วน
สำหรับผลการดำเนินการธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่จังหวัดชัยนาท มีจำนวน 834 แห่ง แบ่งเป็น 1. สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 2 สุพรรณบุรี จำนวน 25 แห่ง 2. สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดชัยนาท จำนวน 809 แห่ง และมีแผนการดำเนินงานธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ปี 2567 อีกจำนวน 56 แห่ง