ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมจากลำน้ำยัง พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับประชาชน ผู้นำชุมชน กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ณ ค่ายลูกเสือนีโอ บ้านเหล่าน้อย ต.วังสามัคคี อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด พร้อมบินตรวจสภาพไร่นาที่ประสบน้ำท่วมจากน้ำที่ยังเอ่อล้นในพื้นที่เสลภูมิ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดสภาวะฝนตกหนักต่อเนื่อง จากอิทธิพลร่องมรสุมกำลังแรง ช่วงวันที่ 3 – 6 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา บริเวณต้นลำน้ำยังตอนบน ซึ่งอยู่ในเขต จ.กาฬสินธุ์ โดยมีปริมาณน้ำฝนสะสมรวม ในช่วงวันดังกล่าว ประกอบด้วย อ.กุฉินารายณ์ 327.3 มม. อ.เขาวง 285.0 มม. อ.นาคู 198.0 มม. และ อ.ห้วยผึ้ง 186.7 มม. จึงเป็นเหตุให้ระดับน้ำในลำน้ำยังในเขต อ.โพนทอง และ อ.เสลภูมิ เพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็วและเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม จำนวน 10 อำเภอ พื้นที่ 28,451 ไร่ ประกอบด้วย อ.เสลภูมิ 24,882 ไร่ อ.โพนทอง 1,596 ไร่ อ.อาจสามารถ 567 ไร่ อ.ทุ่งเขาหลวง 404 ไร่ อ.ธวัชบุรี 256 ไร่ อ.เชียงขวัญ 241 ไร่ อ.จังหาร 172 ไร่ อ.พนมไพร 158 ไร่ อ.เมยวดี 129 ไร่ และ อ.โพธิ์ชัย 46 ไร่ ทั้งนี้ ได้มีประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ปี 2566 แล้ว จำนวน 2 อำเภอ ได้แก่ อ.โพนทอง และ อ.เสลภูมิ ประกอบด้วย 8 ตำบล 48 หมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้ให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งศูนย์บัญชาการส่วนหน้าในเขต ต.นาแซง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประชาสัมพันธ์ชี้แจงสถานการณ์น้ำและจุดติดต่อประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ โครงการชลประทานร้อยเอ็ด ได้นำเครื่องจักร-เครื่องมือ เข้าดำเนินการปิดรูรั่วบริเวณคันพนังกั้นน้ำยัง อีกทั้งยังได้ร่วมกับผู้นำท้องที่ท้องถิ่น และราษฎรในพื้นที่ ต.วังหลวง อ.เสลภูมิ ช่วยกันบรรจุกระสอบทราย ประมาณ 1,000 ใบ เพื่อวางเป็นแนวป้องกันน้ำล้นตลิ่งพนังกั้นน้ำยัง และร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นำกำลังพลและเรือท้องแบนเข้าช่วยเหลือมอบสิ่งของเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ประสบภัยด้วย
“บริเวณจุดที่มาลงพื้นที่ในวันนี้ คือบริเวณหมู่บ้านโนนเชียงหวาน ปริมาณน้ำเริ่มลดลงแล้ว จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาว่าทำไมหมู่บ้านนี้เกิดน้ำท่วมทุกปี ให้หาทางแก้ไขอย่างยั่งยืน ในเบื้องต้นได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสำรวจความเสีย หากมีความจำเป็นต้องประกาศเขตภัยพิบัติฯ ทางกระทรวงเกษตรฯ จะเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรต่อไป สำหรับในส่วนของประตูระบายน้ำที่สร้างเสร็จแล้ว หลังจากพบปะพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่พบว่าอยากให้เปิดประตูระบายน้ำ จึงได้มอบหมายกรมชลประทานศึกษาว่าทำไมน้ำยังท่วมขังอยู่ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
ทั้งนี้ จังหวัดร้อยเอ็ดมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก จำนวน 492 แห่ง มีความจุรวม 151.17 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน รวม 694,062 ไร่ ดังนี้ โครงการชลประทานขนาดใหญ่ จำนวน 2 แห่ง คือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง มีพื้นที่ชลประทาน 97,693 ไร่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ มีพื้นที่ชลประทาน 64,385 ไร่ รวมทั้ง 2 แห่ง มีพื้นที่ชลประทาน 162,078 ไร่
โครงการชลประทานขนาดกลาง จำนวน 12 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำหนองหญ้าม้า อ่างเก็บน้ำห้วยแอ่ง อ่างเก็บน้ำธวัชชัย อ่างเก็บน้ำวังนอง อ่างเก็บน้ำห้วยพุงใหญ่ อ่างเก็บน้ำท่าจอก อ่างเก็บน้ำหนองผือ อ่างเก็บน้ำห้วยกุดแดง อ่างเก็บน้ำห้วยกุดแคน อ่างเก็บน้ำห้วยแล้ง อ่างเก็บน้ำห้วยจานใต้ และอ่างเก็บน้ำหนองแวง มีความจุรวม 69.342 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน 77,253 ไร่
โครงการชลประทานขนาดเล็ก จำนวน 478 แห่ง มีความจุ รวม 65.831 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทาน 456,731 ไร่ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 229 แห่ง พื้นที่ 72,724 ไร่ ฝายและหนองน้ำขนาดเล็ก จำนวน 80 แห่ง พื้นที่ 47,306 ไร่ และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 169 แห่ง พื้นที่ 336,701 ไร่