ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และให้ความช่วยเหลือ พร้อมมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย ณ โรงเรียนบ้านคำบง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ว่า ตามที่มีฝนตกหนักในช่วงคืนวันศุกร์ 15 กันยายน 2566 ต่อเนื่องถึงวันอาทิตย์ 17 กันยายน 2566 ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จนทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำชี แม่น้ำเชิญ และลำห้วยเสือเต้น ได้รับผลกระทบมีน้ำท่วมในพื้นที่ อำเภอเขาสวนกวาง อำเภอน้ำพองอำเภออุบลรัตน์ และอำเภอเมืองขอนแก่น โดยปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ ณ อำเภอเขาสวนกวาง 53.4 มม. อำเภออุบลรัตน์ 58.0 มม. อำเภอน้ำพอง 67.8 มม. และอำเภอเมืองขอนแก่น 145 มม. ตามลำดับ ส่งผลให้มีน้ำหลากจากลำห้วยสาขา เช่น ลำห้วยเสือเต้น ลำห้วยคุนมุม ไหลหลากลงมาที่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ บริเวณเหนือฝายหนองหวาย ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเกินความจุของลำน้ำพอง ทำให้มีน้ำเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรบางส่วน
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นนั้นมีปัญหาภัยแล้ง – น้ำท่วมซ้ำซาก ต้องเร่งบูรณาการทั้งจังหวัด และยังมีหนองน้ำตื้นเขิน ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถเก็บกักปริมาณน้ำได้ในปริมาณมาก แต่ก็สามารถสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ได้ เช่น โครงการแก้มลิง ที่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง หรือไว้เป็นที่ระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งศึกษาหาทางแก้ไขในระยะยาว
สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ประมาณ 7,600 ไร่ จำนวน 500 ครัวเรือน นาข้าวได้รับความเสียหายกว่า 7,000 ไร่ ปัจจุบันน้ำลดลงประมาณ 30 ซม. คงเหลือน้ำท่วมสูง 60 – 70 ซม. ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้เร่งระบายน้ำผ่านฝายหนองทุกช่องทาง เพื่อลดผลกระทบ พร้อมทั้งเร่งระบายน้ำที่เขื่อนมหาสารคาม เพื่อดึงมวลน้ำจากลำน้ำพองลงแม่น้ำชี เพื่อให้ไหลสะดวกขึ้น โดยแม่น้ำชียังมีช่องว่างสามารถรองรับได้ และไม่เกิดผลกระทบท้ายน้ำในแม่น้ำชี เขตพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม คาดว่า 1 – 2 วัน จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม
โอกาสนี้ รมว.เกษตรฯ ยังได้มอบหญ้าแห้งอาหารสัตว์พระราชทาน และถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จำนวน 500 ถุง แก่พี่น้องเกษตรกร