วันที่ 4 ส.ค.66 นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง เป็นประธานแถลงข่าว “ความก้าวหน้าโครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม จังหวัดพิษณุโลก” โดยมี นายไพฑูรย์ ศรีมุก รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก นายธนบดี รักสัตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานแถลงข่าว
นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำ (ปตร.) ในลุ่มน้ำยมตอนล่างรวม 4 แห่ง ได้แก่ ปตร.ท่านางงาม ปตร.ท่าแห ปตร.วังจิก และ ปตร.โพธิ์ประทับช้าง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานในเขตจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร และเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนทั้งปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการรับมือกับผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เนื่องจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะการปลูกข้าว การพัฒนาแหล่งน้ำจึงเป็นปัจจัยหลักในการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนให้แก่เกษตรกร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งที่มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี อีกทั้งยังช่วยชะลอน้ำในการผันน้ำเข้าแก้มลิงต่าง ๆ ในช่วงน้ำหลาก เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและป้องกันการกัดเซาะตลิ่งบ้านเรือนของราษฎรได้อีกด้วย โดยประตูระบายน้ำท่านางงาม ปัจจุบันสามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำและเก็บกักน้ำเพื่อรองรับปรากฏการณ์เอลนีโญ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี พ.ศ. 2566 นี้” นายสิริพล กล่าว
สำหรับโครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นประตูระบายน้ำอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดประตูเหล็กบานโค้งจำนวน 5 บาน สามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมและลำน้ำสาขาได้ประมาณ 11.10 ล้าน ลบ.ม. ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี (ปี พ.ศ. 2562 – 2566) ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 51,375 ไร่ ประชาชนได้ประโยชน์กว่า 2,568 ครัวเรือน
ด้านนายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะยืดเยื้อต่อเนื่องและมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้น กรมชลประทาน จึงจำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวอย่างประณีตและรัดกุม เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในกิจกรรมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ให้มากที่สุด
“ประตูระบายน้ำท่านางงาม จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งให้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยในการสนับสนุนพื้นที่บางระกำโมเดลได้อีกทางหนึ่งด้วย และยังช่วยเร่งระบายน้ำในแม่น้ำยมในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งในพื้นที่อำเภอบางระกำ รวมทั้งพื้นที่ฝั่งขวาและฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการสร้างกระบวนการมีส่วมร่วมของประชาชน เกษตรกร และผู้นำในพื้นที่ ในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ เพื่อร่วมกันวางแผนบริหารจัดการน้ำบริเวณประตูระบายน้ำท่านางงามให้เกิดประโยชน์สูงสุด”