วันที่นี้ (24 ก.ค. 66) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (24 ก.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 38,377 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 37,960 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,793 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 15,078 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนดอย่างเคร่งครัด ในส่วนของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่อาจจะส่งผลให้ทั้งประเทศไทยเกิดฝนตกน้อยกว่าค่าปกตินานจนถึงปีหน้า นั้น กรมชลประทาน ได้วางมาตรการเพื่อรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำต่างๆให้ได้มากที่สุด มีการปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม ขุดลอกแหล่งน้ำต่าง ๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำไว้รองรับฝนที่จะตกลงมาในช่วงฤดูฝนนี้ สำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุดเช่นกัน ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาชน จัดหาแหล่งเก็บกักน้ำ หรือภาชนะสำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ในครัวเรือนให้ได้มากที่สุด จนกว่าจะถึงฤดูฝนปีหน้า ที่สำคัญต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ