กรมชลฯย้ำเขื่อนป่าสักฯ เพียงพออุปโภคบริโภคแม้น้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย วอนทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดน้ำ

กรมชลประทาน ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมใจกันประหยัดน้ำ หลังเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย แต่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูฝนนี้ ย้ำทุกโครงการชลประทานติดตามสถานการณ์เอลนีโญ่อย่างใกล้ชิด เน้นยึดหลัก 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566

นายเสริมชัย เชียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ว่า ปัจจุบัน(12 มิ.ย. 66) มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 139 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 14% ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำ(Outflow) เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ด้านท้ายประมาณวันละ 1 ล้าน ลบ.ม.

%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%81 1
เขื่อนป่าสักฯ

ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ได้มีการติดตามปรากฎการณ์เอลนีโญ่อย่างใกล้ชิด มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2566 ตามนโยบายของกรมชลประทาน และปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ตามมติ ครม. อย่างเคร่งครัด

%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%81 2
เขื่อนป่าสักฯ

พร้อมกันนี้ ยังได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการทำนาปี ส่วนน้ำที่ระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ และเสริมน้ำฝนเพื่อการเกษตรเท่านั้น

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ปัจจุบัน อยู่ในเกณฑ์เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคตลอดฤดูฝนนี้ และจากการคาดการณ์ของกรมชลประทานโดยใช้ข้อมูลฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรณีใช่ค่าปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯเฉลี่ย คาดว่าปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จะมีปริมาณน้ำเต็มเขื่อน 100 % หรือเต็มความจุอ่างฯที่ 960 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้งปีหน้า

ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่มีพื้นที่นาอยู่ในที่ดอน ที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก ขอความร่วมมือให้เลื่อนการทำนาปี 2566 ออกไปก่อนจนกว่าจะมีปริมาณฝนตกอย่างสม่ำเสมอ ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ประมาณช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นไป จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมใจกันประหยัดน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองเพียงพอใช้ตลอดทั้งปี ช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต