กรมประมงเดินหน้าเปิดระบบ“กพส.สร.1” รับแจ้งปัญหาสัตว์น้ำป่วย/ตายทางออนไลน์ 24 ชั่วโมงเน้นแก้ปัญหาตรงประเด็น ฉับไว มีประสิทธิภาพ

กรมประมงเปิดให้บริการ “ระบบรายงานสัตว์น้ำป่วย (แบบ กพส.สร.1)” แก่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทุกชนิดผ่านระบบออนไลน์ เพื่อป้องกันและรักษาการเกิดโรคสัตว์น้ำป่วย/ตาย หรือพบเชื้อก่อโรค พร้อมทั้งให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและทันเวลา ซึ่งจะช่วยยับยั้งการลุกลามของโรคระบาดในสัตว์น้ำ เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะช่วยปลดล็อคในการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและเป็นประโยชน์ต่อการจัดการสุขภาพสัตว์น้ำในอนาคต 
       

%E0%B8%AD%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%94%E0%B8%B5 1
นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ระบบรายงานสัตว์น้ำป่วย (แบบ กพส.สร.1) เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่กรมประมงได้จัดทำขึ้น เพื่อติดตามปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเลและสัตว์น้ำของพี่น้องเกษตรกรได้อย่างใกล้ชิด รวดเร็ว ฉับไว รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรที่อยู่ห่างไกลได้รับการบริการที่เข้าถึงได้ง่าย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเมื่อกรมประมงได้รับแจ้งรายงานข้อมูลจากในระบบฯ เบื้องต้นทางนักวิชาการจากกองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำจะติดต่อกลับไปยังฟาร์มเกษตรกรที่พบการป่วย หรือตายของสัตว์น้ำ เพื่อสอบถามหาสาเหตุ และติดต่อเจ้าหน้าที่ประมงในพื้นที่ เก็บตัวอย่างพร้อมให้คำแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาการป่วยหรือตายสัตว์น้ำให้กับเกษตรกร ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้
         

%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%87 1 1
กรมประมงเปิดรับแจ้งปัญหาสัตว์น้ำป่วย-ตาย

ด้านนางสาวพุทธรัตน์ เบ้าประเสริฐกุล ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กล่าวเสริมว่า…สำหรับระบบดังกล่าว ได้เริ่มมีการทดลองใช้งานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 มาจนถึงปัจจุบัน โดยมีเกษตรกรที่แจ้งรายงานการพบสัตว์น้ำป่วย/ตาย รับการติดต่อช่วยเหลือพร้อมให้คำปรึกษาจากกรมประมงผ่านระบบ กพส.สร.1 รวมจำนวน 120 ราย แบ่งเป็นการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม จำนวน 102 ราย การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ จำนวน 14 ราย และการเลี้ยงผสมผสานระหว่างกุ้งขาวแวนนาไมและกุ้งกุลาดำ จำนวน 1 ราย ปลากะพงขาว จำนวน 2 ราย และปลานิล จำนวน 1 ราย

ปัจจุบันปัญหาการติดเชื้อก่อโรคในสัตว์น้ำมีการรายงานเข้ามาผ่านระบบ กพส.สร.1 ได้แก่ Enterocytozoon hepatopenaei (EHP), Vibrio parahaemolyticus (VpAHPND), White spot syndrome virus (WSSV), Viral nervous necrosis (VNN) และ Red sea bream iridovirus (RSIV) เป็นต้น โดยในอนาคตกรมประมงมีแผนที่จะพัฒนาให้ระบบ กพส.สร.1 รองรับต่อการรายงานสัตว์น้ำให้ครอบคลุมทุกชนิด เพื่อตอบโจทย์เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำภายในประเทศ

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้าย ขอให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาสัตว์น้ำป่วย/ตาย รายงานข้อมูลเข้าสู่ระบบ กพส.สร. 1 เพื่อที่กรมประมงสามารถให้ความช่วยเหลือแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้คำปรึกษาเพื่อเฝ้าระวังเชื้อก่อโรคดังกล่าวในฟาร์มของท่านเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและสร้างความมั่นใจในการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมงมากยิ่งขึ้น

สำหรับผู้สนใจสมัครเข้าระบบเข้าไปที่ลิงค์ https://forms.gle/azM27Cu8CSi92bG3A หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรมประมง 02- 579 4122, E-mail :[email protected] หรือ Facebook : facebook.com/AAHRDD