วันที่22 พ.ค. 66 ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่นฮอลล์ 2 โรงแรมท็อปแลนด์ จ.พิษณุโลก ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการระยะเริ่มต้น (Inception workshop) โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน (Enhancing Climate Resilience in Thailand through Effective Water Management and Sustainable Agriculture)
โดยมี นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ นายวรพจน์ เพชรนรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 นายไพฑูรย์ ศรีมุก รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 นายพฤกษ์ เรืองไวทย ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุตรดิตถ์ นายกุลธร รัตนเสรี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน Mr.Chongguang Yu ผู้แทนจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน(GIZ) และผู้แทนจากหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ และสุโขทัย เข้าร่วมประชุม
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความแปรปรวนของปริมาณฝนในปัจจุบัน ทำให้เกิดอุทกภัยและภัยแล้งรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำที่มีอยู่เดิมในลุ่มน้ำยม-น่าน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้งและปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ด้านท้ายน้ำช่วงฤดูฝนอีกด้วย
กรมชลประทาน จึงได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน (Enhancing Climate Resilience in Thailand through Effective Water Management and Sustainable Agriculture) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมชลประทาน สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ที่ได้รับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) เพื่อปรับปรุงวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเกษตรกรรม
โดยคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพและระบบนิเวศ เสริมสร้างความสมบูรณ์โครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ ตลอดจนสนับสนุนการจัดการระดับท้องถิ่น เพิ่มการเข้าถึงการจัดการการเงินและตลาดให้เกษตรกร สามารถลดความผันผวนของเกษตรกรรมและการดำรงชีพในพื้นที่เสี่ยงได้ โดยได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการฯ ในเขตพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ครอบคลุมพื้นที่ 7 อำเภอ ใน 3 จังหวัด ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน (จังหวัดพิษณุโลก ,จังหวัดสุโขทัย,จังหวัดอุตรดิตถ์) พื้นที่รับประโยชน์กว่า 125,000 ไร่ เป็นพื้นที่นำร่องในการต่อยอดพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อื่น ๆ
ภายใต้ 3 กิจกรรมหลักที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่ OUTPUT1 ระบบบริหารข้อมูลในการพยากรณ์ น้ำฝน น้ำท่า แผนการเพาะปลูก OUTPUT 2 ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ผสมผสานมาตรการสิ่งก่อสร้างและมาตรการเชิงนิเวศ และ OUTPUT 3 เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของเกษตร ส่งเสริมด้านการตลาด ขยายแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมไปถึงการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป