วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก โดยมี นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 นายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล นายโรจน์วัฒน์ อินทร์ทุ่ง ผู้อำนวยการกองแผนงาน นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 นายวุฒิชัย นรสิงห์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจันทบุรี นายสุรชัย นำนาผล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานระยอง นายทรงสิทธิ์ สุขพานิช ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และรายงานสรุป ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ จ.ระยอง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วง 3 เดือนหลังจากนี้ (พฤษภาคม-กรกฎาคม) อาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้มีฝนตกน้อยกว่าปกติ และอาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำได้ในหลายพื้นที่ กรมชลประทาน ได้วางแผนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะโครงข่ายน้ำเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำประแสร์ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำประแสร์เป็นศูนย์กลางของการผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภค การเกษตร และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคตะวันออก ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำประแสร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค. 66) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณ 204 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 82% ของความจุอ่างฯ สามารถส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ได้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคและการเกษตรอย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยไม่มีพื้นที่ประสบภัยแล้งแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังได้เตรียมแผนสำรองด้วยการจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เพื่อสนับสนุนน้ำจากแหล่งน้ำชลประทานให้กับพื้นที่ที่อาจจะเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามตรวจสอบอาคารชลประทาน สถานีสูบน้ำ และระบบส่งน้ำต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานและส่งน้ำให้เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสถานีสูบน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งเป็นการสูบผันน้ำเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อตอบสนองการใช้น้ำทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดระยองได้อีกทางหนึ่งด้วย