กรมชลประทานเร่งเก็บกักน้ำ รับมือสถานการณ์เอลนีโญหลังกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า สถานการณ์เอลนีโญ จะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (20เม.ย. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 45,564ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 13,857ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 23,780ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 86ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 8,579ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 95ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.)
ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 10.36ล้านไร่หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 6.35 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผนฯซึ่งขณะนี้บางพื้นที่มีการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จจึงขอความร่วมมือเกษตรกรงดการทำนาปรังต่อเนื่อง (นาปรังรอบ2) เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ 11 ทุ่งที่กรมชลประทานได้ปรับปฏิทินเพาะปลูกให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง ปัจจุบันในพื้นที่ทุ่งบางระกำได้เริ่มเพาะปลูกแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นมา ส่วนอีก 10 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานได้เริ่มส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อให้เกษตรกรเตรียมเพาะปลูกได้ในช่วงวันที่ 1 พฤษภาคม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากอุทกภัย
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า สถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติจึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์สามารถรองรับสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตพร้อมปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 66 ที่กรมชลประทานกำหนด ได้แก่ 1.จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี 2.บริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด 3. ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก 4.กักเก็บน้ำในเขื่อน รวมไปถึงแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้มากที่สุด 5.วางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัยควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการรองรับฤดูฝนปี 66 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด