โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ย้ำ สทนช.-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง แม้ยังไม่พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค แต่เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
วันที่18 เม.ย. 66 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับและเน้นย้ำสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) การประปาส่วนภูมิภาค กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ติดตามประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด แม้ปัจจุบันยังไม่พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการทุกด้านให้พร้อมรองรับทันกับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้
โดยเฉพาะปริมาณน้ำต้นทุนที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน การทำเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการรักษาระบบนิเวศ ต้องมีการกักเก็บน้ำและบริหารจัดการน้ำต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพและเพียงต่อความต้องการในแต่ละกิจกรรม รวมถึงการเตรียมการวางแผนบริหารจัดการน้ำต้นทุนในช่วงฤดูฝน และสำรองไว้ใช้ในช่วงแล้งหน้า เนื่องจากไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะเอลนีโญเดือนกรกฎาคมนี้
สำหรับสถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศในปัจจุบันนั้น นายอนุชากล่าวว่า จากข้อมูลของ กอนช. ระบุว่า มีปริมาณน้ำ 50,022 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 61% ในจำนวนนี้เป็นปริมาณน้ำใช้การ 25,865 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 45% โดย กอนช. ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ณ วันที่ 1 พ.ค. 2566 จะมีปริมาณน้ำ 41,660 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 59% ซึ่งมากกว่าเมื่อปี 2565 อยู่ประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงต้นฤดูฝนปีนี้ จะมีอ่างฯ ขนาดใหญ่เสี่ยงปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% จำนวน 11 แห่ง อาทิ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น ซึ่ง กอนช. จะติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์และปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน
ขณะที่สถานการณ์การปลูกพืชฤดูแล้งพบว่าปัจจุบันยังไม่มีการเพาะปลูกเกินแผน และขณะนี้มีบางพื้นที่ดำเนินการเก็บเกี่ยวแล้ว โดยกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมชลประทานได้ขอความร่วมมือไปยังแต่ละจังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์ไม่ให้มีการทำนาปรังรอบที่ 2 ซึ่งจากการติดตามประเมินพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ปัจจุบันยังไม่มีพื้นที่ขาดแคลนน้ำ อย่างไรก็ตาม กอนช. ได้มีการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เช่น เบื้องต้นได้ประสานกับการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเกาะสมุยและสาขาเกาะพะงัน ซึ่งรายงานว่า ยังคงมีการจ่ายน้ำในระดับปกติ สำหรับในพื้นที่พรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมักประสบปัญหาภัยแล้งและไฟป่านั้น ปัจจุบันกรมชลประทานได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรเครื่องมือต่าง ๆ สนับสนุนในพื้นที่เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นแล้ว
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างมาก โดยมีแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และเน้นย้ำ สทนช. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการเตรียมแผนรองรับทุกด้านทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว นำไปสู่การปฏิบัติจนเกิดผลเป็นรูปธรรม ตลอดจนการบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานให้การขับเคลื่อนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ทั้งการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยเฉพาะการให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ ได้มาตรฐาน รวมไปถึงการประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ทั้งด้านอุปโภค บริโภค ด้านคุณภาพน้ำ และการเกษตร เพื่อวิเคราะห์หามาตรการในการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ล่าสุดข้อมูลจากการประชุมคณะทำงานด้านประเมินสถานการณ์ กอนช. ครั้งที่ 1/2566 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 7 เม.ย.66 ที่ผ่านมาระบุว่า ปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำในช่วงต้นฤดูฝนเป็นไปได้ตามแผน แต่เนื่องจากประเทศไทยมีแนวโน้มจะเข้าสู่สภาวะเอลนีโญในช่วงเดือน ก.ค.66 (เอลนีโญจะเกิดขึ้นในห้วงระยะเวลา 2 ปี) จึงต้องเตรียมการสำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปีหน้า รวมถึงประเมินสถานการณ์และวางแผนการดำเนินการอย่างรัดกุมรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต” นายอนุชา กล่าว