กรมชลประทาน ขอความร่วมมือเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยา งดการเพาะปลูกข้าวนาปรังต่อเนื่อง (นาปรัง 2) ลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กรมชลประทาน ได้จัดสรรน้ำให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปรังในช่วงฤดูแล้งปี 65/66 ทั่วประเทศไปแล้ว 19,682 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้วประมาณ 7,113 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 79 ของแผน จนถึงขณะนี้มีการเพาะปลูกพืชทั้งประเทศไปแล้ว 9.96 ล้านไร่ จากแผนที่กำหนดไว้ 10.42 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ96 ของแผนฯ โดยมีพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวแล้ว 2.052 ล้านไร่ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกแล้ว 6.31 ล้านไร่ จากแผนที่กำหนดไว้ 6.64 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 95 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.391 ล้านไร่ ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี65/66 เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ กรมชลประทาน จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้วเสร็จ ให้งดการเพาะปลูกข้าวนาปรังต่อเนื่อง(นาปรัง 2) เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง และเพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สามารถส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน ส่งไปสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต รวมไปถึงเพื่อควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
อนึ่ง กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์สำหรับบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างประณีต รวมทั้งปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูแล้ง ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่เสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำ ด้วยการจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำไว้คอยช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรได้ทันที ตลอดจนประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยัง เกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำ และทุกภาคส่วน ให้ช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ทุกกิจกรรมตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศว่า ในช่วงวันที่ 26 – 29 มี.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทย และทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่น ๆ จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป
ส่วนในช่วงวันที่ 30 – 31 มี.ค 66 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้ ตลอดช่วง
ข้อควรระวัง
ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นไว้ด้วยตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 26 – 29 มี.ค. 66 ขอให้ประชาชนในบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย