“อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเฮี้ย” จังหวัดเพชรบูรณ์ คืบหน้ากว่าร้อยละ 97 หวังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญแห่งใหม่ เพื่อช่วยเหลือราษฎรอำเภอหล่มเก่า ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ และทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเฮี้ย ตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ สำหรับเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรให้กับราษฎรในพื้นที่ สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูฝนได้ 4,500 ไร่ และฤดูแล้งประมาณ 900 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านเนิน ตำบลนาแซง และ ตำบลนาเกาะ ปัจจุบันผลงานทั้งโครงการมีความก้าวหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 97 หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถเก็บกักน้ำได้ 5.40 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์รวม 4,500 ไร่ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ ให้กับราษฎรและเกษตรกรได้เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะต่อไป
กรมชลฯติดตามผลการดำเนินงานกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมสู่แผนรับมือฤดูฝนปี 66
ส่วนอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งวันที่ 23 มีนาคม 66 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมติดตามและหารือเรื่องการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมี ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบ Video Conference
การประชุมในครั้งนี้เป็นการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานกำจัดวัชพืช งบรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีผลสัมฤทธิ์การกำจัดวัชพืชอยู่ที่ 1,931,594 ตัน คิดเป็นร้อยละ 34.29 ของแผน ครอบคลุมพื้นที่ 13,676 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 40 ของแผน และเป็นการติดตามข้อมูลผลการสำรวจและตรวจสอบศักยภาพการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 1-17 โดยพบว่า มีการสำรวจและตรวจสอบศักยภาพของอาคารระบายน้ำและระบบระบายน้ำแล้วจำนวน 1,318 โครงการ จากทั้งหมด 1,383 โครงการ
ทั้งนี้ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานชลประทานที่1-17 ผู้แทนจากกองแผนงาน และสำนักเครื่องจักรกล ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแผนงานกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่จำเป็นสำหรับการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ตลอดจนการเร่งรัดการดำเนินงานในการแก้ไขซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารระบายน้ำ และระบบระบายน้ำ ของทุกหน่วยงานให้พร้อมใช้งาน ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อม ด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ก่อนฤดูฝน ปี 2566