“บางระกำโมเดล” สานต่อความสำเร็จ 7 ปีต่อเนื่อง

จากความสำเร็จของการดำเนินโครงการ “บางระกำโมเดล” กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง จวบจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 หลังผลการดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย เกษตรกรในพื้นที่มีการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้โดยผลผลิตไม่เสียหาย สามารถสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้อย่างมั่นคง

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานพิธีเปิดการเปิดน้ำเข้าระบบส่งน้ำเพื่อปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ โดยมี นายพชรเสฏฐ์ บุญศิริสาริศา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายวรพจน์ เพชรนรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 นายฐนันดร์ สุทธิพิศาล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีเปิด ณ บริเวณท่อระบายน้ำคลองแยงมุม ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก

336699715 893857351822224 175676353739700057 n
เปิดน้ำเข้าระบบส่งน้ำ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า “โครงการบางระกำโมเดล ” นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาอุทกภัยที่ซ้ำซากในพื้นที่ จ.สุโขทัยและพิษณุโลก เมื่อปี 2559 กรมชลประทานจึงได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ดำเนินโครงการฯมาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน ที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว ด้วยการปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกข้าวนาปีของเกษตรกร ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ประกอบไปด้วย อ.พรหมพิราม อ.เมือง อ.บางระกำ และ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ให้เร็วขึ้น จากเดิมที่เคยปลูกในเดือนพฤษภาคมมาเป็นเดือนเมษายน เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในเดือนสิงหาคม ช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่นาข้าวในช่วงฤดูน้ำหลาก

336354783 764634228219771 6529019985522508241 n
พื้นที่ทุ่งบางระกำ

สำหรับในปีนี้ กรมชลประทานจะเริ่มทยอยส่งน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 5,240 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ประมาณ 2,390 ล้าน ลบ.ม. ให้กับทุ่งบางระกำ พื้นที่ประมาณ 2.65 แสนไร่ โดยเปิดรับน้ำเข้าระบบชลประทาน ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2566 ให้เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกข้าวได้ตั้งแต่ 1 เมษายน เป็นต้นไป เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วเสร็จภายในเดือน สิงหาคม 2566 รวมปริมาณน้ำที่จัดสรร ประมาณ 310 ล้าน ลบ.ม.หลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ กรมชลประทาน จะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากจากลุ่มน้ำยม ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัยทั้งในเขต จ.พิษณุโลก และพื้นที่เศรษฐกิจ จ.สุโขทัย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกด้านหนึ่ง ได้ร่วมกับกรมประมง บูรณาการส่งเสริมอาชีพ โดยนำพันธุ์ปลามาปล่อยลงในทุ่ง ให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมในการทำประมง และยังส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตจากปลา และผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรและชุมชน ในช่วงฤดูน้ำหลาก เมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน จะเริ่มระบายน้ำออกจากทุ่งบางระกำ โดยจะคงเหลือปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไว้ในทุ่ง สำหรับให้เกษตรกรใช้ในการเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปรังต่อไป ช่วยประหยัดน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนสิริกิติ์ได้อีกทางหนึ่งด้วย