เลขา.รมว.เกษตรฯ ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล ครั้งที่ 1 / 2566

นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล ครั้งที่ 1 / 2566 เพื่อติดตามรับฟังผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล และคณะกรรมการกำกับดูแลการจ่ายเงินค่าชดเชยโครงการฝายราษีไศลในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดร้อยเอ็ด ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านโปรแกรมการประชุมทางไกลออนไลน์ (Zoom Meeting )

                     

332931490 971085140527216 7878817684034761183 n
นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 1) บัญชีรายชื่อที่ผ่านการตรวจสอบจากคณะทำงานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศลว่าได้ทำประโยชน์ถูกต้องตามหลักเกณฑ์มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 และตามความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการการแก้ไขปัญหา จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดร้อยเอ็ด โดยไม่ทับซ้อนกับแปลงที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้จ่ายไปแล้ว จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 60 แปลง เนื้อที่ 202-0-98 ไร่ เป็นเงินจำนวน 6,471,840 บาท จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 108 แปลง เนื้อที่ 227-2-99.96 ไร่ เป็นเงินจำนวน 7,287,996.80 บาท และจังหวัดร้อยเอ็ดจำนวน  106 แปลง เนื้อที่ 210-2-31.15 ไร่ เป็นเงินจำนวน 6,738,492 บาท ทั้งสิ้น

332948041 945782566600669 6457211524926573795 n
ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล ครั้งที่ 1 /66

และ 2) บัญชีรายชื่อที่ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์การทำประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 ประกอบผลการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ (ชุดใหญ่) กับคณะทำงานพิจารณาคำร้องคัดค้านฯ (อุทธรณ์) ทั้ง 3 จังหวัด เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 และตามความเห็นของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาฯ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดร้อยเอ็ด โดยไม่ทับซ้อนกับแปลงที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้จ่ายไปแล้ว จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 71 แปลง เนื้อที่ 96-3-08.95 ไร่ เป็นเงินจำนวน 3,096,716 บาท จังหวัดสุรินทร์จำนวน 129 แปลง เนื้อที่ 456-3-81 ไร่ เป็นเงินจำนวน 14,622,480 บาท และจังหวัดร้อยเอ็ดจำนวน 44 แปลง เนื้อที่ 276-2-18 ไร่ เป็นเงินจำนวน 8,849,440 บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 518 แปลง เนื้อที่ 1,470-3-37.06 ไร่ เป็นจำนวนเงิน 47,066,964.80 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเขื่อนราศีไศล เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2534 ตรงบริเวณปากห้วยทับทันไหลลงสู่แม่น้ำมูน ตัวโครงการตั้งอยู่บริเวณ บ้านดอนงูเหลือม ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีษะเกษ เริ่มกักเก็บน้ำเมื่อปี 2536 การดำเนินงานโครงการไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมก่อนดำเนินโครงการ ขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของชุมชน และไม่มีการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงเกิดปัญหาตามมาในภายหลังและต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาอย่างยาวนาน

 เขื่อนราษีไศล  ได้ก่อให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของลุ่มน้ำมูนและประเทศไทย ระบบนิเวศน์ป่าบุ่ง ป่าทาม ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ(wetland) ประเภทหนึ่ง นับว่าเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคนี้

คุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพของป่าบุ่งป่าทามที่สำคัญก็คือ การเป็นถิ่นอาศัยและวางไข่ของปลาในเขตลุ่มน้ำมูนที่ อพยพมาจากแม่น้ำโขง ป่าบุ่งป่าทาม จึงเปรียบเสมือนแหล่งอนุบาลพันธุ์ปลาซึ่งหากเทียบกับทะเลแล้วป่าบุ่งป่าทามก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกับป่าชายเลน  แต่ปัจจุบันป่าบุ่งป่าทามได้ถูกน้ำท่วมอย่างถาวรทำให้พืช ยืนต้นตายเกือบทั้งหมด  ที่เหลือบางส่วนก็จะเสียหายภายในไม่ช้าถ้าหากว่าเขื่อนยังคงกักเก็บน้ำต่อไป

เนื่องจากไม่มีการสำรวจข้อมูลพื้นฐานเรื่องจำนวนพันธุ์ปลาก่อนการสร้างเขื่อน  จึงทำให้ขาดข้อมูลพื้นฐานในด้านการ ประมง  

แต่จากการสำรวจข้อมูลพันธุ์ปลาที่ชาวบ้านเคยจับพบว่า ในเขตป่าบุ่งป่าทามและแม่น้ำมูนในเขตนี้มีพันธุ์ปลาอย่างน้อยที่สุด 80 ชนิด  ขณะที่มีสัตว์น้ำอื่น ๆ อีกมาก เช่น กุ้ง 3 ชนิด ปู 2 ชนิด  หอย 14 ชนิด

ส่วนสัตว์ป่าอื่น ๆ เท่าที่สำรวจพบมีสัตว์เลื้อยคลาน 43 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 11 ชนิด และนกน้ำอีกหลายชนิด

ป่าบุ่งป่าทามยังประกอบด้วยพันธุ์พืชหลากหลายชนิด  แต่ก็ไม่ได้มีการสำรวจเอาไว้ การสำรวจหลังจากการสร้างเขื่อนไป แล้ว 4 ปีพบพันธุ์พืชสมุนไพร 44 ชนิดที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ และปัจจุบันนี้พืชสมุนไพรเหล่านี้ก็แทบจะหาไม่ได้อีกเลย