นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(23 ก.พ.66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 54,468 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 71 ของความจุอ่างฯเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,992 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯ
ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 14,989 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้านลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 5,275 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของแผนฯ(แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.)
ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 9.15 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 88 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 6.21 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนฯ
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้วางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างประณีต เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ในทุกกิจกรรม ตาม 10 มาตรการ รองรับฤดูแล้งของรัฐบาล
โดยได้เน้นย้ำให้สำนักเครื่องจักรกล และโครงการชลประทานในพื้นที่ เตรียมพร้อมติดตั้งเครื่องมือเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรได้ตลอดเวลา ที่สำคัญให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด