วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายสัญญา สุริวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 14 ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานก่อสร้าง โครงการประตูระบายน้ำบ้านหาดแตง อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการประตูระบายน้ำบ้านหาดแตง อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เป็นโครงการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎรในพื้นที่ เนื่องจากสภาพลำน้ำคลองรับร่อ จะไหลผ่านไปบรรจบกันกับคลองท่าแซะที่ตำบลท่าข้ามซึ่งเป็นต้นน้ำ เมื่อเกิดฝนตกเป็นจำนวนมาก บริมาณน้ำจากคลองดังกล่าวจะไหลเข้าท่วมพื้นที่ตอนล่างเป็นประจำ อีกทั้งพื้นที่อำเภอท่าแซะมีพื้นที่การเกษตรเป็นจำนวนมาก อาทิ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และไม้ผลต่างๆ อีกทั้งยังมีราษฎรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง
กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำบ้านหาดแตง อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เพื่อใช้ในการบรรเทาปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถระบายน้ำได้ 1,860 ลบ.ม./วินาที เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการเกษตรกรรมพื้นที่ชลประทานประมาณ 4,893 ไร่ สนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค จำนวน 3,500 ครัวเรือน ประชากร 10,000 คน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรในเขตพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียงให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้กำชับให้เร่งดำเนินงานก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านหาดแตง รวมถึงการเพิ่มเครื่องจักรเครื่องมือและบุคลากร เพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ และเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์โดยเร็วที่สุด
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ ว่า ในวันที่ 18 ก.พ. 66 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีอากาศเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร และดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ไว้ด้วย
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันเริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 19 – 24 ก.พ. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้ากับมีลมแรง
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลงโดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1 –2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร