ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) “กรมชลประทาน” ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่1-17 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) กฟผ. เพื่อติดตามและวิเคราะห์“สถานการณ์น้ำ” ในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 43,036 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯรวมกันสามารถรับน้ำได้อีก 33,048 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,113 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 14,758 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 24-25 พ.ค. 65 ร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน
ส่วนช่วง 26-29 พ.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ จึงได้กำชับไปยังสำนักงานชลประทานและศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์
โดยคำนึงถึง ปริมาณ เวลา ผลกระทบ ผู้มีส่วนได้เสีย ความมั่นคงของอาคารชลประทานและระเบียบกฎหมายข้อบังคับ เป็นหลัก เชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำระหว่างสำนักงานชลประทานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำความพร้อมของอาคารชลประทานและระบบโทรมาตรต้องพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งหมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญ ทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนการระบายน้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง