“กรมชลประทาน” เผยสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี คาดจัดสรรได้เพียงพอตามแผนการใช้งาน พร้อมกำชับทุกหน่วยงานกักเก็บน้ำไว้ใช้ ในเดือน มิ.ย.- ก.ค. 66 ซึ่งฝนอาจทิ้งช่วง
วันที่ 13 ก.พ.66 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำผ่านระบบVideo Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ กทม. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
ดร.ธเนศ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 56,026 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุอ่างฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,551 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 71 ของความจุอ่างฯ ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี
จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 13,359 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 4,523 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.74 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 84 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 6.00 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 90 ของแผนฯ สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำให้มีการจัดระเบียบการเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวให้ทันตามแผนที่กำหนดไว้ สำหรับค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลัก 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง ภาพรวมสถานการณ์ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 15-19 ก.พ. 66 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ สำหรับในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมที่จะถึงนี้อาจจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง กรมชลประทานได้กำชับให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่เก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำทั่วประเทศ เพื่อรับมือภาวะฝนทิ้งช่วง พร้อมกันนี้ให้ทางสำนักเครื่องจักรกล และสำนักงานชลประทานในพื้นที่ ติดตั้งเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ลดการขาดแคลนน้ำและบรรเทาความเดือดร้อน
ที่สำคัญให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีผลกระทบโดยตรงกับการเกษตรและแหล่งน้ำ ส่งผลเสียหายต่อกิจกรรมทางการเกษตร เช่น พื้นดินขาดความชุ่มชื้น พืชขาดน้ำ พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพต่ำ รวมถึงปริมาณลดลง ภัยแล้งที่เกิดมีผลต่อการเกษตร มักเกิดในฤดูฝนที่มีฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่เกิดจากฝนแล้ง และทิ้งช่วงโดยแต่ละปีจะเกิดขึ้นได้ 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องถึงฤดูร้อน ซึ่งจะเริ่มจากครึ่งหลังของเดือนตุลาคมเป็นต้นไป บริเวณประเทศไทยตอนบน (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก) จะมีปริมาณฝนลดลงเป็นลำดับ ยกเว้นภาคใต้จนกว่าจะย่างเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป ซึ่งภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ส่วนภัยแล้งอีกช่วงหนึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงกลางฤดูฝน คือ ประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม จะมีฝนทิ้งช่วง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเฉพาะท้องถิ่น หรือบางบริเวณแต่บางครั้งก็อาจครอบคลุมพื้นที่กว้างเกือบทั่วประเทศไทย