อ่างเก็บน้ำห้วยตาจูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แหล่งน้ำต้นทุนของชาวอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ทำให้ราษฎรและเกษตรกรในพื้นที่มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคและการเกษตรตลอดทั้งปี ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตราษฎรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตาจูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ ไว้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2529 สำหรับเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้แก่ราษฎรในพื้นที่ ตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา ในเขตอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2538 ความจุเก็บกักประมาณ 22.27 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้ราษฎรใช้ในช่วงฤดูฝนได้ประมาณ 13,000 ไร่ และในช่วงฤดูแล้ง 11,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลกันทรอม ตำบลโนนสูง และตำบลห้วยจันทร์
นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ทำให้ราษฎรบางส่วนมีรายได้เสริมจากอาชีพทำการประมง ปัจจุบันมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา และกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย สมาชิกรวม 309 คน และอาสาสมัครชลประทานอีก 5 คน
ด้านเพจศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี เผยแพร่ผลงานรัฐบาลในการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและน้ำแล้งมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี
ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริการจัดการน้ำร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ มากกว่า 48 ส่วนราชการ มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ และมุ่งเน้นขับเคลื่อนแผนงานโครงการขนาดใหญ่ที่สามารถแก้ไขปัญหาในวงกว้างได้อย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนโครงการไปแล้ว จำนวน 44 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักรวม 1,414 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่รับประโยชน์ 1.48 ล้านไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 319,765 ครัวเรือน ทั้งนี้ เป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณในการดำเนินการแล้ว จำนวน 24 โครงการ
นอกจากนั้น การดำเนินงานโครงการด้านทรัพยากรน้ำที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติโครงการสำคัญที่ได้รับการขับเคลื่อนแล้ว ในช่วงปี 2559-2565 จำนวน 241 โครงการ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 1,371 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 1,400,000 ไร่ พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 1,250,541 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 505,828 ครัวเรือน
การดำเนินการของรัฐบาลได้เน้นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่วิกฤต (Area-Base) ทั่วทั้งประเทศ โดยพิจารณาในทุกมิติ เช่น ด้านศักยภาพการแก้ไขปัญหาเป็นหลัก โดยมีผลการศึกษารองรับ ไม่มีปัญหาทางสังคมรุนแรง รวมถึงพิจารณาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
นอกจากนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการในการรับมือก่อนภัยจะเกิดขึ้นตามฤดูกาล โดยการบูรณาการส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการเตรียมความพร้อมและกำหนดกรอบแนวทางและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะน้ำท่วมและภาวะน้ำแล้งตลอดมา เช่น การกำหนดมาตรการประจำปีสำหรับรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง มาตรการสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือในฤดูฝน
นอกจากการดำเนินการในภาวะปกติของหน่วยงาน ยังได้มีการจัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เพื่อแก้ปัญหาในภาวะวิกฤติควบคู่ไปด้วย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างทันสถานการณ์ สามารถช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนได้อย่างตรงจุด สามารถคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว
รัฐบาลเตรียมแผนรับมือสถานการณ์อุทกภัย โดยจัดการน้ำทั้งประเทศอย่างเป็นองค์รวมทั้งระบบ และสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาส่งผลให้พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งลดอย่างต่อเนื่อง โดยจากปี 2561 มีปัญหาภัยแล้ง 12,826 หมู่บ้าน 1,199 ตำบล 178 อำเภอ 26 จังหวัด ในขณะที่ปี 2563/64 มีปัญหาภัยแล้งลดลงเป็น 296 หมู่บ้าน 45 ตำบล 10 อำเภอ 5 จังหวัด
เช่นเดียวกับความเสียหายจากอุทกภัยที่มีจำนวนลดลง โดยจากปี 2561 มีประชาชนได้รับผลกระทบ 418,338 ครัวเรือน ในขณะที่ปี 2564 ได้รับผลกระทบลดลงเป็น 239,776 ครัวเรือน โดยรัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนต่อไป