วันที่ 1 ก.พ.66 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำและแผนบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและราชบุรี โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายพงษ์ศักดิ์ ฤทธิสมิต ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 13 และผู้เกี่ยวข้อง บรรยายสรุปภาพรวมและร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงและความถี่เพิ่มมากขึ้น กรมชลประทาน จึงได้ศึกษาและดำเนินการตาม 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งระบบ โดยในพื้นที่ฝั่งลุ่มน้ำท่าจีน กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนออกสู่ชายทะเลอ่าวไทย ซึ่งจะช่วยลดภาระการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นการบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยให้กับพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างด้วย อีกทั้งยังได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายแม่น้ำท่าจีน เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำของแม่น้ำท่าจีนทั้งตอนบนและตอนล่าง รวมถึงปรับปรุงช่องลัดธรรมชาติเดิมให้สามารถระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงประตูระบายน้ำคลองบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ด้วยการก่อสร้างประตูระบายน้ำใหม่พร้อมสถานีสูบน้ำ เพื่อเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่งคลองบางแก้วทั้ง 2 ฝั่งคลองด้วย
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำและแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างรอบคอบ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีน้ำใช้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ ตลอดจนควบคุมค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำในพื้นที่
ด้านรองนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างระบบระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนและการก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองบางแก้วให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อใช้เป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการน้ำหลาก บรรเทาปัญหาอุทกภัย ตลอดจนลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็วที่สุด พร้อมกำชับให้วางแผนบริหารจัดการน้ำและจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง สนับสนุนน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาให้เพียงพอต่อความต้องการที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตของพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงน้ำสะอาดได้อย่างทั่วถึง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ลุ่มน้ำท่าจีน ตั้งอยู่ทางตอนกลางประเทศไทยและอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมทั้งสิ้น 13,477.16 ตร.กม. พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขต 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ชัยนาท นครปฐม นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และอุทัยธานี
ลักษณะลุ่มน้ำวางตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ โดยทิศเหนือ ติดกับลุ่มน้ำสะแกกรัง ,ทิศใต้ติดกับ อ่าวไทย ,ทิศตะวันออก ติดกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันตกติดกับลุ่มน้ำแม่กลอง
สภาพทั่วไปของลุ่มน้ำท่าจีน เป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำซึ่งเป็นที่ราบเดียวกันกับที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตอนบนของลุ่มน้ำเป็นที่เชิงเขาแต่มีระดับไม่สูงมากนัก ส่วนตอนกลางและตอนล่างเป็นที่ราบลุ่มติดต่อกับที่ราบลุ่มของลุ่มน้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีนแยกออกมาทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลมะขามเฒ่า อ,วัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม และออกสู่อ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรสาคร
แม่น้ำท่าจีนมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปากแม่น้ำ คือ คลองมะขามเฒ่า แม่น้ำสุพรรณบุรี แม่น้ำนครชัยศรี และแม่น้ำท่าจีน