วันที่ 30 มกราคม 2566 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “การบริหารจัดการน้ำ และการเตรียมความพร้อมรับมือภัยแล้ง ปี 2566” ในรายการ “เกษตร…ต่อยอด” ผ่านทาง Facebook Live : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในฤดูฝนปี 2565 ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 โดยใช้ระบบชลประทานอย่างเต็มศักยภาพ และการช่วยเหลือด้านเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รวมทั้งสิ้น 2,260 หน่วย ครอบคลุม 58 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย และหลังจากน้ำลด ยังได้ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ เข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ในส่วนของปริมาณน้ำต้นทุนจากการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ทำให้ ณ วันที่ 1 พ.ย. 2565 ทั้งประเทศมีน้ำต้นทุนรวมทั้งสิ้น 64,000 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2564 กว่า 5,495 ล้าน ลบ.ม. / เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,770 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2564 กว่า 6,330 ล้าน ลบ.ม. ด้านลุ่มแม่กลอง ใช้น้ำต้นทุนจาก 2 เขื่อนหลัก (เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 22,000 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2564 กว่า 1,349 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2565/66 ได้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2565/66 ตามที่ ครม.ได้เห็นชอบไว้เมื่อ 1 พ.ย. 2565 โดยทั้งประเทศวางแผนจัดสรรน้ำไว้ทั้งสิ้น 43,740 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งประมาณ 27,685 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63% ของแผนฯ ส่วนที่เหลือจะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนอีกประมาณ 16,055 ล้าน ลบ.ม. หรือ 37% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวม 14,074 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งประมาณ 9,100 ล้าน ลบ.ม. หรือ 62% ของแผนฯ และอีก 5,474 ล้าน ลบ.ม. หรือ 38% ของแผนฯ จะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน
ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ได้วางแผนการเพาะปลูกไว้ทั้งประเทศประมาณ 10.42 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้ว 8 ล้านไร่ หรือ 76% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังไว้ 6.64 ล้านไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 5.6 ล้านไร่ หรือ 84% ของแผนฯ
อธิบดีกรมชลประทาน ยังได้กล่าวอีกว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอย่างเพียงพอทุกกิจกรรม ด้วยการจัดสรรน้ำแบบปราณีต จัดรอบเวรการส่งน้ำ การปรับปฏิทินการเพาะปลูก เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนฤดูน้ำหลาก ซึ่งได้ดำเนินการใน 2 พื้นที่ ได้แก่ โครงการบางระกำโมเดล เริ่มส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. เพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ภายใน ส.ค. และพื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง จะเริ่มส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวได้ภายในเดือน ก.ย. ช่วยลดความสูญเสียของผลผลิตทางเกษตรในฤดูน้ำหลาก
นอกจากนี้ ยังได้มีการเร่งซ่อมแซมอาคารชลประทาน และระบบชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ให้สามารถบริหารจัดการน้ำและส่งน้ำในฤดูแล้งได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างการรับรู้และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำผ่านช่องทางต่างๆ ไม่น้อยกว่า 17,000 ครั้ง เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจแก่เกษตรกรและประชาชน
ด้านการเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ เราได้เตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่น ๆ อีก 5,382 หน่วย เพื่อให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในฤดูแล้งนี้ ทั้งยังมีการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อสร้างรายได้เสริมเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานไปแล้วกว่า 17,000 คน นอกเหนือจากการบริหารจัดการน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำทั้งในฤดูฝน และฤดูแล้งแล้ว การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ถือเป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน กรมชลประทานได้ดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญๆ ในหลายพื้นที่ อาทิ ลุ่มน้ำชี เน้นการเก็บกักน้ำต้นทุนให้ได้มากที่สุดในบริเวณตอนบนของลุ่มน้ำชี เป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 โครงการฯ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ (ลำกระจวน) อ่างเก็บน้ำลำเจียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 5 แห่ง จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้อีก 240 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์กว่า 188,000 ไร่
ส่วนพื้นที่กลางน้ำ-ปลายน้ำ เป็นการหน่วงน้ำและเร่งระบายน้ำ ในตอนกลางและตอนล่างของลุ่มน้ำ ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งสิ้น 94 โครงการ รวมทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 184 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 73,692 ไร่ ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและความมั่นคงด้านน้ำในลำน้ำชี อีกทั้งโครงการต่างๆ ยังจะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำในลำน้ำชีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการแก้ปัญหาอุทกภัย และภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่ลำน้ำชีได้อย่างยั่งยืน
ด้านลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เป็นการขุดคลองระบายน้ำ เพื่อผันน้ำเลี่ยงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเมื่อรวมกับขีดความสามารถในการระบายน้ำที่มีอยู่เดิม จะสามารถระบายน้ำได้รวมทั้งหมด 2,930 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันมีผลการดำเนินการไปแล้ว 26% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก สร้างความมั่นคงด้านน้ำ และบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอีกหลายโครงการ เช่น โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ที่จะสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ที่จะสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับภาคตะวันออกและเขต EEC ซึ่งทั้งหมดนี้ กรมชลประทาน มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ให้กับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอและยั่งยืนต่อไปในอนาคต