นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ที่อาจได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 24 – 30 มกราคม 2566 หลังกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศแจ้งเตือนว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช กระบี่ พัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก นั้น
จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง เน้นย้ำให้เฝ้าติดตามสภาพอากาศ หมั่นตรวจสอบสภาพอาคารชลประทานให้มีประสิทธิภาพพร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เพื่อเตรียมรับมือน้ำหลาก ด้านเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำได้เตรียมพร้อมประจำจุดพื้นที่เสี่ยงแล้ว สามารถเข้าให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญได้ย้ำให้ดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น
กรมชลฯประชุมติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ
ส่วนอีกความเคลื่อนไหวหนึ่ง เมื่อวานนี้ (23 ม.ค. 66) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำและแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (23 ม.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 59,053 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 77 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 35,111 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 67 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 18,733 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 75 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 12,037 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 10,092 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 3,269 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.)
อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้และทะเลอันดามันมีกำลังแรง ส่งผลให้ในช่วงระหว่างวันที่ 27-29 ม.ค. 66 ภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง รวมทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งบริเวณอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้ ยังได้กำชับในส่วนของการรักษาระดับน้ำใต้ดินในบริเวณพลุ รวมทั้งการพร่องน้ำและระบายน้ำเพื่อรักษาสมดุลและเป็นการป้องกันการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่อีกด้วย พร้อมติดตามตรวจสอบปริมาณน้ำจากสถานีอุทกวิทยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทัน พร้อมปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด จัดเตรียมเครื่องจักร อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแทรกเตอร์ รถขุด และเครื่องจักรอื่นๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง ที่สำคัญให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด