นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(19 ม.ค.66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 59,525 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 18,942 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุอ่างฯรวมกัน ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี
ด้านสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำ 4 สายหลัก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา , แม่น้ำท่าจีน , แม่น้ำปราจีน-บางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ในส่วนของผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 65/66 ปัจจุบันจัดสรรน้ำทั้งประเทศไปแล้ว 9,553 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 3,039 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) จนขณะนี้มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศไปแล้ว 7.39 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 71 ของแผนฯ ในขณะที่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 5.29 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 80 ของแผนฯ
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 1 (22/2566) ประกาศแจ้งเตือนเรื่องฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 20-25 มกราคม 2566
บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต กระบี่ พัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือน้ำหลาก
โดยเน้นย้ำให้เฝ้าติดตามและตรวจสอบสภาพอาคารชลประทานให้มีประสิทธิภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ตลอดจนปรับการระบายน้ำให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์
นอกจากนี้ ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เพื่อเตรียมรับมือน้ำหลาก และเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำประจำจุดพื้นที่เสี่ยงให้สามารถเข้าให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์