โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักอีกระลอก หลัง กอนช. ประกาศแจ้งเตือนน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศเรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ จากการติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในช่วงวันที่ 6 – 11 มกราคม 2566 เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนเข้าใกล้ปลายแหลมญวณ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้นทำให้บริเวณภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งนั้น
กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อม เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทานต่าง ๆ ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมไปถึงบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ส่วนพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้ติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำไว้ในพื้นที่ เพื่อให้สามารถรับมือสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะวิกฤติน้ำท่วมหรือน้ำเอ่อล้นตลิ่งในแม่น้ำสายหลัก โครงการชลประทานในพื้นที่บูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำและเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายละเอียด ประกาศ ฉบับที่ 1/2566 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงวันที่ 6 – 11 ม.ค. 66 มีดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนราและแม่น้ำโก-ลก
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) รวมทั้งอ่างฯ ขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลางให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน
4.เฝ้าระวังคลื่นซัดฝั่งที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบกิจการบริเวณแนวชายฝั่งทะเลตั้งแต่จ.นครศรีธรรมราช จนถึง จ.นราธิวาส
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์