ชลประทานประชุมทุกหน่วยงาน เตรียมพร้อมบริหารน้ำทั่วประเทศ รับมือฤดูฝนปี 65 ล่าสุดสถานการณ์ทุกลุ่มน้ำภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
วันนี้(17 พ.ค.65) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำและแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (17 พ.ค.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 42,435 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 18,499 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 33,649 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,844 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 3,148 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 15,027 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูฝน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.65 จากการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาโดยในปี 2565 มีปริมาณฝนมากกว่าค่าปรกติ 62% โดยในช่วง วันที่ 17-18 พ.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุม ประเทศไทย ทะเลอันดามัน และอ่าวไทย จึงทำให้ด้านรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง และในช่วงวันที่ 19-23 พ.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ปะเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ทั้งนี้ ประธานในที่ประชุมขอให้เตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำ รับมือฤดูฝน โดยกำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ที่ ครม.เห็นชอบ ทั้ง 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด พร้อมติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะให้บริหารจัดการน้ำภายในอ่างเก็บน้ำ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงปริมาณ เวลา ผลกระทบ ความมั่นคงของอาคารชลประทาน และระเบียบกฎหมาย เป็นหลัก หมั่นตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกับจัดทำแผนเผชิญเหตุเพื่อรับมือหากเกิดสถานการณ์น้ำหลาก จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมทั้งระบบสื่อสารสำรองให้พร้อมใช้งานได้ทันที หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม และสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที