กรมชลประทาน เดินหน้าก่อสร้างอ่างเก็บน้ำป่าละอูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผลงานคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 78.66 คาดแล้วเสร็จและเริ่มเก็บกักน้ำได้ในปี 2567 หวังบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายบุรีรัตน์ วงศ์บุรี เลขานุการกรมและคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายสัญญา สุริวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 14 และผู้เกี่ยวข้อง บรรยายสรุปผลการดำเนินงาน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นโครงการฯที่กรมชลประทานรับสนองพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 เพื่อให้ชาวตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งผลงานความคืบหน้าในภาพรวม ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วร้อยละ 78 ของแผนที่วางไว้
สำหรับอ่างเก็บน้ำป่าละอูฯ ถือเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีความจุระดับกักเก็บ 10.46 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ทั้งหมด 6,490 ไร่ โดยในปี 2565 นี้ ได้มีการปรับแผนงานก่อสร้าง เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำได้บางส่วน เพื่อช่วยสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรในพื้นที่ ซึ่งหากโครงการฯแล้วเสร็จทั้งหมด จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับสนับสนุนและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ประมาณ 1,095 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 3,250 คน ช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและเกษตรกร มีผลผลิตทางการเกษตรให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มความมั่นคงทางด้านน้ำ พัฒนาเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้กำชับให้เร่งดำเนินงานก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำป่าละอูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์โดยเร็วที่สุด
กรมชลฯเร่งติดตั้งสะพานเบลีย์ ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หลังถูกน้ำกัดเซาะจนขาด
ส่วนอีกความเคลื่อนไหว กรมชลประทาน เร่งติดตั้งสะพานเบลีย์บริเวณถนน ตำบลนาหว้า อำเภอจะนะ หลังถูกน้ำกัดเซาะจนขาด บรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดสงขลา ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม จนกัดเซาะถนนบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 11 ตำบลนาหว้า อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขาดเสียหายไม่สามารถสัญจรได้ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ จึงได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล และสำนักงานชลประทานที่ 16 เร่งเข้าติดตั้งสะพานเบลีย์ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สัญจรชั่วคราวโดยเร็วที่สุด
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ ในช่วงวันที่ 25 – 26 ธ.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลง
โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนและห่างฝั่งบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 27 – 28 ธ.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันตกในระดับบนยังคงปกคลุมภาคเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง และในช่วงวันที่ 29 – 31 ธ.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว โดยอุณหภูมิจะลดลง 1 – 3 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ยังคงมีกำลังปานกลาง ทำให้บริเวณอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันทะเลมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร