นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามความคืบหน้าแผนงานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง ต.หนองบอน อ.บ่อไร่ จ.ตราด โดยมีนายกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายภัสชญภณ หมื่นแจ้งรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายเศกสิทธิ์ โพธิ์ชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศกรรมชลประทาน กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน หัวหน้าส่วนราชการ เกษตรกร เข้าร่วม ณ สำนักงานเทศบาลตำบลหนองบอน อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด
ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลหนองบอน อำเภอบ่อไร่ จ.ตราด มีลักษณะของโครงการเป็นเขื่อนดิน ก่อสร้างปิดกั้นคลองแอ่ง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำเขาสมิง สามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุด 35.38 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เมื่อโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้พื้นที่กว่า 30,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองบอนตำบลช้างทูน และตำบลบ่อพลอย จ.ตราด
โดยมีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 4 ปี (2566 – 2569) งบประมาณก่อสร้าง 680 ล้านบาท เป็นการช่วยป้องกันปัญหาอุทกภัย ในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองแอ่งและด้านท้ายน้ำ และแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำต้นทุนในทำการเกษตรให้แก่เกษตรกรในฤดูแล้ง รวมถึงเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับเพาะปลูก อุปโภค-บริโภคตลอดจนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น
“จังหวัดตราดเป็นพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกผลไม้ที่สำคัญและมีชื่อเสียง อาทิ ทุเรียน เงาะ ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำสำหรับการเพาะปลูกปริมาณมาก ที่ผ่านมาประสบปัญหาอุทกภัยสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยกรมชลประทาน ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งอ่างเก็บน้ำดังกล่าวสามารถช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยได้เป็นอย่างดี ลดผลกระทบและความเสียหายในพื้นที่เกษตร อย่างไรก็ตามต้องบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน” รมช.มนัญญาฯ กล่าว
สำหรับแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ จ.ตราด มีทั้งหมด 6 โครงการ ประกอบด้วย
1. อ่างเก็บน้ำคลองสะพานหินพร้อมระบบส่งน้ำ (ดำเนินการแล้วเสร็จ) ความจุอ่าง 20 ล้าน ลบ.ม. 2. อ่างเก็บน้ำคลองพร้าว (อยู่ระหว่างดำเนินการ ปี 2564 – 2567) ความจุอ่าง 2.35 ล้าน ลบ.ม.พื้นที่รับประโยชน์ 1,780 ไร่
3. อ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง (ดำเนินการ ปี 2566 – 2569) ความจุอ่าง 35.38 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์30,000 ไร่
4. อ่างเก็บน้ำห้วยสะตอ (อยู่ระกว่างดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่) ความจุอ่าง 74.65 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 75,490 ไร่
5. ระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองโสน (อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ) ความจุอ่าง 65 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 53,300 ไร่
และ 6. อ่างเก็บน้ำวังตาสังข์ (อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเหมาะสม) ความจุอ่าง 30 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 80,000 ไร่