นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หลังกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าจะมีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 8 – 9 ธันวาคม 2565 และติดตามประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 8 –11 ธันวาคม 2565 ดังนี้
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ
-จังหวัดชุมพร (อ.ละแม)
-จังหวัดภูเก็ต (อ.ถลาง และเมืองภูเก็ต)
-จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อ.กาญจนดิษฐ์ ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง พุนพิน ดอนสัก และเมืองสุราษฎร์ธานี)
-จังหวัดนครศรีธรรมราช (อ.เมืองนครศรีธรรมราช ขนอม สิชล ท่าศาลา พรหมคีรี ปากพนัง นบพิตำ และพระพรหม)
-จังหวัดพัทลุง (อ.เขาชัยสน ควนขนุน บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน และกงหรา)
-จังหวัดสงขลา (อ.กระแสสินธุ์ ระโนด เทพา รัตภูมิ ควนเนียง หาดใหญ่ สทิงพระ และจะนะ)
-จังหวัดตรัง (อ.กันตัง)
-จังหวัดสตูล (อ.เมืองสตูล)
-จังหวัดปัตตานี (อ.ไม้แก่น หนองจิก โคกโพธิ์ สายบุรี กะพ้อ ยะหริ่ง ทุ่งยางแดง และมายอ)
-จังหวัดยะลา (อ.รามัน เมืองยะลา และยะหา)
-จังหวัดนราธิวาส (อ.เมืองนราธิวาส ตากใบ เจาะไอร้อง บาเจาะ ยี่งอ แว้ง สุไหโก-ลก สุคิริน และรือเสาะ)
-เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
-เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำสูงสุด และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ รวมทั้งเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังระดับน้ำทั้งแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาตลอด 24 ชั่วโมง ตรวจสอบอาคารชลประทาน ตลอดจนแนวค้นกั้นน้ำต่าง ๆ ให้มีความมั่นคงแข็งแรงพร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก บุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ บริเวณพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานแจ้งเตือนประชาชน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
กรมชลฯ ประชุมติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ
.
ขณะที่ ที่ศูนย์ปฏิบัติการณ์น้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่1-17และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
.
ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (6 ธ.ค.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 58,741 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 83% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 35,204 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,835 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 14,139 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี
.
ด้านการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 65/66 ภาพรวมยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศรวม 27,685 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,929 ล้าน ลบ.ม. หรือ 15% ของแผนฯ ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแผนจัดสรรน้ำ 9,100 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 757 ล้าน ลบ.ม. หรือ 9% ของแผนฯ เช่นเดียวกับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ที่ขณะนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศรวม 11.06 ล้านไร่ มีการเพาะปลูกแล้วรวม 1.873 ล้านไร่ หรือ 17% ของแผนฯ ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนเพาะปลูกทั้งสิ้น 6.74 ล้านไร่ มีการเพาะปลูกแล้ว 1.252 ล้านไร่ หรือ 19% ของแผนฯ
.
กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ โดยคำนึงถึงการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ตามลำดับ พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2565/66 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้
.
สำหรับค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลัก ปัจจุบัน (6 ธ.ค. 65 เวลา 07.00 น.) ที่สถานีประปาสำแล แม่น้ำเจ้าพระยา วัดค่าความเค็มได้ 0.15 กรัม/ลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัม/ลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัม/ลิตร) ที่สถานีเขื่อนบางปะกง แม่น้ำปราจีน-บางปะกง วัดค่าความเค็มได้ 0.16 กรัม/ลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร) ที่สถานีปากคลองจินดา แม่น้ำท่าจีน วัดค่าความเค็มได้ 0.24 กรัม/ลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัม/ลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร) ที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก แม่น้ำแม่กลอง วัดค่าความเค็มได้ 0.18 กรัม/ลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร) ภาพรวมสถานการณ์ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุม
.
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าช่วงวันที่ 8 – 11 ธ.ค. 65 หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างจะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซียลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่างและช่องแคบมะละกา ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และในช่วงวันที่ 9 – 11 ธ.ค. 65 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้นั้น จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด