วันที่ 11 เมษายน 2565 นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีการปรับแผนการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ประจำเดือนเมษายน 2565
โดยตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วทุกภูมิภาค 11 หน่วยฯ เพื่อรองรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและความต้องการใช้น้ำของพื้นที่การเกษตรที่เริ่มมีการเพาะปลูก ซึ่งทางหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกแห่ง มีการติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวันและวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าว
โดยในช่วงวันที่ 4-10 เมษายน 2565 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ตาก มีการขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ดับไฟป่าและเติมน้ำให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำ ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณพื้นที่เกษตร พื้นที่ป่าไม้ จ.เชียงใหม่ มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำ “เขื่อนภูมิพล” จ.ตาก และมีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่า จ.ตาก
ด้านหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี ขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่าไม้ ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่เกษตร จ.อุทัยธานี พื้นที่ป่าไม้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี ขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.กาญจนบุรี
ทั้งนี้ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงปฏิบัติงานและมีการติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวันเพื่อช่วยเหลือประชาชนและพื้นที่การเกษตรที่ต้องการน้ำอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการติดตามสภาพอากาศในสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2565 นางสาวเครือวัลย์ แสงโพธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ตอนล่าง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 11 – 14 เม.ย. 2565 มีความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไป
ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
ส่วนในช่วงวันที่ 15 – 17 เม.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
สำหรับข้อควรระวังเกี่ยวกับสภาพอากาศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 11– 17 เม.ย. 2565 ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้น สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
โดยจากลักษณะดังกล่าว กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีโอกาสวางแผนบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณฝนในพื้นที่การเกษตร รวมทั้งการทำฝนในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักของเขื่อนต่างๆ ต่อไป