กรมชลประทาน kick off โครงการก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง(ฝายหนองวัวดำ) พร้อมอาคารประกอบ บ้านหนองบง ตำบลโกสัมพี อำเภอโกสัมพีนคร ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ พื้นที่ท้ายเขื่อนภูมิพล ตามนโยบายของรัฐบาล
บ่ายวันนี้(21พ.ย.65) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ณ บริเวณฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง(ฝายหนองวัวดำ) บ้านหนองบง ตำบลโกสัมพี อำเภอโกสัมพีนคร ก่อนจะเดินทางต่อไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว อำเภอเมืองกำแพงเพชร ตามลำดับ โดยมี นายประพิศจันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายฐนันดร์ สุทธิพิศาลผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 นายชาคริต ไทยประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานกำแพงเพชร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พื้นที่ 6 ตำบล 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโกสัมพีนครอำเภอเมืองกำแพงเพชร และ อำเภอพรานกระต่าย มักจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำ เนื่องจากไม่มีประตูระบายน้ำหรือฝายทดน้ำในแม่น้ำปิง กรมชลประทาน ได้ศึกษาความเหมาะสมแผนหลักการพัฒนาอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพล จำนวนทั้งสิ้น 14 โครงการ ซึ่งฝายหนองวัวดำ เป็น 1 ใน 14 โครงการตามแผนหลักฯ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร
เป็นฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง ความยาว 380 เมตร พร้อมประตูระบายน้ำปากคลองส่งน้ำ จำนวน 1 ช่อง และงานขุดลอกคลองส่งน้ำพร้อมดาดคอนกรีตความยาว 480 เมตร งานป้องกันตลิ่งฝั่งขวาความยาวประมาณ 1,000 เมตร รวมทั้งอาคารประกอบอื่นๆ ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (2566-2567) หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ 20,000 ไร่ มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 70,000 ไร่ ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ทั้งยังสามารถช่วยชะลอน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากได้อีกด้วย
ต่อจากนั้น รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางต่อไปยัง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ และการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ตาม 10 มาตราการรองรับฤดูแล้งปี 2565/66 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)กำหนด
สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง มีพื้นที่ชลประทานอยู่ในเขตจังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดสุโขทัยรวมประมาณ 550,633 ไร่ ในช่วงฤดูแล้งมักจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากความไม่แน่นอนของปริมาณต้นทุนจากเขื่อนภูมิพล ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนเมือง กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง(ฝายท่อทองแดง) ความยาว 470 เมตร พร้อมประตูระบายน้ำปากคลอง จำนวน 5 ช่อง สามารถรับและระบายน้ำได้สูงสุด 70 ลบ.ม./วินาที
รวมทั้งก่อสร้างคลองส่งน้ำสายใหญ่และคลองส่งน้ำสายซอยอีก 24 สาย เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้น แต่เนื่องจากช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา มีน้ำหลากผ่านฝายในปริมาณมาก จนส่งผลให้บริเวณฝั่งขวาฝายเริ่มทรุดตัว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการกัดเซาะเสียหายได้ในอนาคต ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำหลากในปีถัดไป (2566) กรมชลประทาน จึงได้เร่งเสริมความแข็งแรงลาดด้านท้าย เพื่อรักษาความมั่นคงของฝาย รวมทั้งเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อแดง กว่า 55,000 ไร่
ในส่วนของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว มีพื้นที่ชลประทานอยู่ในเขตจังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดพิจิตรรวมประมาณ 752,143 ไร่ บริหารจัดการน้ำโดยใช้ฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง(ฝายวังบัว) ความยาว 450 เมตร พร้อมประตูระบายน้ำ 2 ช่อง สามารถรับและระบายน้ำได้สูงสุด 60 ลบ.ม./วินาที ส่งน้ำผ่านคลองส่งน้ำสายใหญ่และคลองส่งน้ำสายซอย 5 สาย
โดยในช่วงฤดูแล้งหากปีใดปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้อย จะรับน้ำตามรอบเวรหมุนเวียนร่วมกับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังยาง-หนองขวัญ ตามแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาส่วนในช่วงฤดูฝนจะทำหน้าที่รับน้ำนอง ตัดยอดน้ำจากแม่น้ำปิงบางส่วน เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แต่เนื่องจากในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ฝายถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนขาดกรมชลประทาน ได้เร่งซ่อมแซมปิดช่องขาดแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 65 ที่ผ่านมา ปัจจุบันสามารถยกระดับน้ำและส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร ให้เกษตรกรได้เพาะปลูกได้ตามฤดูกาลปกติแล้ว
ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กรมชลประทาน เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง(ฝายหนองวัวดำ) พร้อมอาคารประกอบ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการฯ โดยเร็วที่สุด รวมทั้ง เร่งซ่อมแซมฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง(ฝายท่อทองแดง) และฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง(ฝายวังบัว) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถทดน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรให้เกษตรกรได้เพาะปลูกอย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้