ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ในหลายพื้นที่ระดับน้ำเริ่มกลับเข้าสู่ระดับตลิ่ง จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานและสำนักเครื่องจักรกลในพื้นที่ หากพื้นที่ใดระดับน้ำกลับเข้าสู่ตลิ่งแล้ว ให้เร่งเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับเข้าที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิตได้ตามปกติในเร็ววัน พร้อมสำรวจอาคารชลประทานและระบบส่งน้ำให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพในช่วงฤดูแล้งนี้ รวมทั้งวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ โดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝนหน้าตามลำดับ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (3 พ.ย. 65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 64,064 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 84 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 40,140 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,780 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 84 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 14,084 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยา ล่าสุด(3 พ.ย. 65) สถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,750 ลบ.ม./วินาที ทำให้ที่สถานีวัดน้ำ C.13 เขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,567 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำด้วยการใช้อ่างเก็บน้ำฯ ในพื้นที่ตอนบนเก็บกักน้ำไว้ ร่วมกับการบริหารจัดการน้ำทางฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้คาดการณ์ได้ว่าปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะลดลงเหลือในอัตรา 700 ลบ.ม./วินาที ประมาณช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำที่ท่วมขังในหลายพื้นที่ เริ่มทยอยกลับเข้าสู่ระดับตลิ่งตามไปด้วย และเตรียมเร่งเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลดตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ
ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ ขอให้เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำหลาก ตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำท่า จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลบริหารจัดการน้ำในอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์ กำหนดคน กำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือ ให้พร้อมแก้ไขสถานการณ์ ที่สำคัญร่วมบูรณาการกับหน่วยงานระดับจังหวัด ทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงด้วย
เร่งฟื้นฟู อุบลฯ ต่อเนื่อง
นอกจากนี้อธิบดีกรมชลประทาน ยังกล่าวถึง สถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันในหลายพื้นที่ได้คลี่คลายลงแล้ว โครงการชลประทานอุบลราชธานี ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เข้าช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยหลังน้ำลด โดยได้ทำความสะอาดที่โรงเรียนหนองขอนวิทยา ต.หนองขอน อ.เมืองอุบลราชธานี ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ก่อนจะทำการเปิดภาคเรียนในวันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2565 นี้และได้เข้าฟื้นฟูที่วัดแก่งตอย บ้านโอด ต.ท่าเมือง อ.ดอนมดแดง ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 7 และโครงการชลประทานอุบลราชธานี จะเดินหน้าช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยหลังน้ำลดอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา