นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งเน้นให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งต้องอาศัยการร่วมมือบูรณาการกันของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเร่งให้เกิดการดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ตลอดจนเรื่องของการแก้ไขหรือปลดล็อกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการตรวจพิสูจน์สิทธิการครอบครองและการใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยให้ยึดหลักการใช้ข้อเท็จจริงที่รอบด้าน และหลักการการเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ แต่ให้สามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ในการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและผลกระทบ
นางสาวรัชดา กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยได้จัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรที่ยากไร้และเกษตรกรตามหลักการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยได้ดำเนินการออกหนังสืออนุญาตแล้วใน 356 พื้นที่ 65 จังหวัด เนื้อที่ 1.12 ล้านไร่ จัดคนลงพื้นที่ จำนวน 73,809 ราย ใน 331 พื้นที่ 67 จังหวัด เนื้อที่ 501,475 ไร่ และส่งเสริมและพัฒนาอาชีพใน 247 พื้นที่ 65 จังหวัด เนื้อที่ 327,976 ไร่ รวมทั้งได้ดำเนินการมอบสมุดประจำตัวผู้ที่ได้รับการคัดเลือกการจัดที่ดินทำกิน จำนวน 55,589 เล่ม ใน 53 จังหวัด
“รัฐบาลมุ่งสร้างพื้นที่ทำกินให้แก่ประชาชน และได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ มีกลไกคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติขับเคลื่อนการบูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาที่ดินทำกินที่เรื้อรังและซับซ้อน โดยจะอำนวยการดูแลประชาชนทั้งเรื่องการรวมกลุ่มให้เข้มแข็ง จัดตั้งเป็นสหกรณ์ และพัฒนาอาชีพ เพื่อนำไปสู่การมีรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืนด้วย” นางสาวรัชดา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ลักษณะการถือครองที่ดินแบบกระจุกตัว และการนำที่ดินไปใช้แบบผิดประเภท ได้นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำในการใช้ที่ดิน
1.เกิดกรณีพิพาทในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่ในเขตป่าสงวนกับชุมชนที่อาศัยกันมาเนิ่นนาน ทำให้คนที่อยู่อาศัยมาก่อนกลายเป็นผู้บุกรุก คนจนในเขตป่าถูกบังคับให้อพยพโยกย้ายออกจากพื้นที่ ถูกจำกัดสิทธิในการพัฒนา ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ถูกจับกุมคุมขัง และถูกปลูกป่าทับที่ทำกิน
2. เกิดการสูญเสียพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำเกษตรกรรม เนื่องจากมีการใช้ที่ดินผิดประเภท เช่น พื้นที่อยู่ในเขตชลประทานและเหมาะสมสำหรับการทำนาปลูกข้าว ถูกนำไปสร้างโรงงานอุตสาหกรรม รีสอร์ท บ้านจัดสรร สถานที่ราชการ และสถานศึกษา เพิ่มมากขึ้น
3.เกิดปัญหาที่ดินหลุดมือและก าลังจะหลุดมือ อันเนื่องมาจากความล้มเหลวทางด้านการเกษตรเป็นเหตุให้เกิดปัญหาหนี้สินและได้ผลผลิตน้อย รวมถึงการกว้านซื้อที่ดินของกลุ่มทุน โดยเฉพาะในระยะที่กำลังมีการเปิดการค้าเสรีอาเซียน
4.ที่ดินจำนวนมากถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าโดยไม่ได้น ามาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า เนื่องจาก พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53 – 54 ระบุให้เจ้าของที่ดินเมื่อจะขายที่ดินที่มีผู้เช่าอยู่ ต้องให้สิทธิ์แก่ผู้เช่าก่อน เมื่อผู้เช่าไม่ซื้อจึงจะขายให้แก่ผู้อื่นได้ ซึ่งราคาที่ดินที่ผู้เช่าต้องการซื้อมักต่ำกว่าราคาตลาด เจ้าของที่ดินส่วนหนึ่งจึงไม่ยอมให้เช่าที่ดิน และปล่อยที่ดินทิ้งไว้โดยไม่ได้ทำประโยชน์
ปัญหาที่ดินซึ่งเป็นโจทย์หินที่รัฐบาลทุกยุคสมัยพยายามแก้ไขซึ่งแม้แตกต่างกันบ้างแต่ในเชิงหลักการแล้วเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือทุกรัฐบาลต่างพุ่งเป้าไปที่การจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรและผู้ยากไร้ ทั้งรูปแบบการให้เอกสารสิทธิ์ที่ดินแบบพิเศษ การให้สิทธิใช้ที่ดินแบบมีเงื่อนไข ในรูปแบบ สปก. สทก. การให้สิทธิเช่าที่ดินราคาถูก หรือให้เช่าซื้อและผ่อนส่งระยะยาว โดยนำที่ดินของรัฐ ทั้งที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณประโยชน์มาจัดสรรให้เกษตรกร แต่กลับไม่มีรัฐบาลใดกล้าแตะไปถึงต้นเหตุสำคัญของปัญหา นั่นคือการกระจุกตัวของที่ดินในสังคมไทย