กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) รายงานสถานการณ์น้ำ ประจำวันที่ 14 ต.ค. 65 ดังนี้
จากสถานการณ์มสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย รวมถึงสถานการณ์พายุ “โนรู (NORU)” ที่เข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565 ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย
ประกอบกับมีการระบายน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 28 ก.ย. – 8 ต.ค. 65 จำนวน 56 จังหวัด 267 อำเภอ 1,289 ตำบล 7,663 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 270,315 ครัวเรือน
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม รวม 34 จังหวัด
ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ และสุโขทัย
ภาคกลาง 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี ลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และนครปฐม
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์
ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และระยอง
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือนเกี่ยวกับ “พายุ เซินกา (SONCA)” ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2565 มีเนื้อหาดังนี้
เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันนี้ (14 ต.ค. 65) พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “เซินกา” (SONCA) แล้วและเมื่อเวลา 16.00 น. มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 220 กิโลเมตรทางตะวันออกของเมืองกว๋างหงาย ประเทศเวียดนามหรือที่ละติจูด 14.7 องศาเหนือ ลองจิจูด 110.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 15 ต.ค. 65 และจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ
ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 14-15 ต.ค. 65 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากลมแรง ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
สำหรับอ่าวไทยตอนล่าง ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง