เมืองอุบลราชธานีวันนี้ อ่วมทั้งน้ำรอการระบายและเตรียมรับมวลน้ำจากลุ่มน้ำชี-มูล สู่ปลายทางแม่น้ำโขง

สถานการณ์จังหวัดอุบลราชธานีวันนี้ ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากยังมีมวลน้ำจากจังหวัดลุ่มน้ำชี กำลังจะไหลบ่าสมทบ ขณะที่ระดับน้ำมูลในพื้นที่ยังเพิ่มขึ้น ด้านนักวิชาการเผยสาเหตุน้ำท่วมหนักมาจากฝนตกสะสมมากและผังเมืองขวางทางน้ำ แนะปรับการบริหารน้ำรับมือในอนาคต

ตรวจสถานการณ์น้ำในจังหวัดอุบลราชธานี วันนี้(11 ตุลาคม 2565) ระดับน้ำแม่น้ำมูล เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง โดยน้ำสถานี M 7 อ.เมืองอุบลฯ 116.50 ม.รทก. เพิ่มขึ้น 3 ซม. จากระดับตลิ่ง 113 ม.รทก.

สถานี M 7 ระดับน้ำเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง

วันที่ 6 ต.ค.เพิ่มขึ้น 17 ซม.

วันที่ 7 ต.ค.เพิ่มขึ้น 13 ซม.

วันที่ 8 ต.ค.เพิ่มขึ้น 12 ซม

วันที่ 9 ต.ค.เพิ่มขึ้น 6 ซม.

วันที่ 10 ต.ค.เพิ่มขึ้น 4 ซม.

และวันที่ 11 ต.ค.เวลา 06.00 น.ระดับน้ำอยู่ที่ 116.50 ม.รทก. สูงกว่าเมื่อวาน 3 ซม.

3E5976F6 42D0 41F8 9FA1 ED7CA2E2D7D1

แม้สถานการณ์ฝนและน้ำรอการระบายในเมืองอุบลราชธานี จะมีแนวโน้มที่ดีและพยากรณ์อากาศพบว่าฝนตกลดลง แต่สิ่งที่เมืองอุบลราชธานีกำลังเผชิญต่อจากนี้คือ มวลน้ำจากหลายจังหวัดที่กำลังไหลบ่าไปสมทบเพิ่ม เนื่องจากเป็นจังหวัดปลายน้ำก่อนระบายลงสู่แม่น้ำโขง จากการตรวจสอบพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลวันนี้ พบว่า

ลุ่มน้ำชี้(ต้นน้ำ)

บ้านค่าย จ.ชัยภูมิ(ล้นตลิ่ง)  ปริมาณน้ำ (- ) ลดลง

อ.ชนบท จ.ขอนแก่น น้ำล้นตลิ่ง  ปริมาณน้ำ (+) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

สะพานฉลองฯ จ.ขอนแก่น น้ำล้นตลิ่ง  ปริมาณน้ำ (+) เพิ่มขึ้นมาก

4CCC7B10 024A 4512 8258 F6359FC548A5

ลุ่มน้ำชี้(กลางน้ำ)

องเมือง จ.มหาสารคาม เสมอตลิ่ง ปริมาณน้ำ (+-) คงที่ 

ฝายร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด   น้ำล้นตลิ่ง  ปริมาณน้ำ (+) เพิ่มขึ้น  

ฝายพนมไพร จ.ยโสธร   น้ำล้นตลิ่ง  ปริมาณน้ำ (+) เพิ่มขึ้น

ฝายธาตุน้อย จ.อบุลราชธานี  น้ำล้นตลิ่ง  ปริมาณน้ำ (+) เพิ่มขึ้น 

ปลายน้ำ

อ.วารินชำราบ จ.อบุลราชธานี  น้ำล้นตลิ่ง  ปริมาณน้ำ (+) เพิ่มขึ้น

อ.พิบูลมังสาหาร จ.อบุลราชธานี  น้ำล้นตลิ่ง  ปริมาณน้ำ (+) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

แนวโน้มสถานการณ์ที่ต้นน้ำ จ.ชัยภูมิ น้ำเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่ง,ส่วนกลางน้ำ จ.ที่ขอนแก่น มหาสารคามและร้อยเอ็ด ยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง มากกว่าเดิมในรอบ 7 วันที่ผ่านมา , ส่วนปลายน้ำจ.อุบราชธานี มวลน้ำมากขึ้นมากกว่าเดิมในช่วง 7 วันที่มา โดยพื้นที่ อ.วารินชำราบ , อ.เมือง และอ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี จะยังคงมีระดับน้ำท่วมสูงขึ้นเล็กน้อย และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องแต่ไม่มากนักไปอีกอย่างน้อยประมาณ 10 วัน เนื่องจากมีมวลน้ำจากลำน้ำชี และลำน้ำมูลไหลมาสมทบ

1DF69FD1 D2E8 4C7B 97B5 0C8EA2E6165A

ขณะที่ ผศ.ฤกษ์ชัย ศรีวรมาศ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเผยกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารภัยพิบัติ ว่า สาเหตุของน้ำท่วมในปีนี้(2565) ปัจจัยสำคัญ คือ มีฝนตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ประมาณเดือนพฤษภาคมจนมาถึงปัจจุบัน ทำให้มีปริมาณฝนสะสมมากกว่าปกติ และตกกระจายทั่วภาคอีสานทำให้มีปริมาณน้ำค่อนข้างมากจากพื้นที่ต้นน้ำ ไหลไปรวมที่จังหวัดอุบลราชธานี

ประกอบกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ของภาคอีสาน คล้ายกับแอ่งกระทะโดยเฉพาะพื้นที่ตรงกลางอีสานเป็นที่ลุ่มต่ำ เมื่อฝนตกลงมาในพื้นที่น้ำแทบจะทุกหยด จะไหลรวมกันมาที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจะเป็นจังหวัดปลายน้ำที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกๆ ปี 

และนอกจากปริมาณน้ำจำนวนมาก ไหลไปที่จังหวัดอุบลราชธานีมาตามแม่น้ำชี และแม่น้ำมูลแล้วในส่วนบริเวณท้ายแม่น้ำมูล ก็มีแก่งสะพือเป็นแก่งหินธรรมชาติขนาดใหญ่ ยกตัวขวางการระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก(แต่ช่วยเก็บกักน้ำในแม่น้ำมูลในช่วงฤดูแล้ง) ทำให้การระบายน้ำออกสู่แม่น้ำโขง ไม่สมดุลกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาในพื้นที่ 

ขณะเดียวกันการขยายตัวของเมืองที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกจังหวัดของภาคอีสาน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นที่รับน้ำและชะลอน้ำหรือแก้มลิงในการรับน้ำหายไป อีกทั้งการเติบโตของเมือง กลายเป็นการกีดขวางทางน้ำ ที่ทำให้เมื่อเกิดฝนตกหนักจึงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน 

ผศ.ฤกษ์ชัย ยังระบุด้วยว่า “วิกฤตน้ำท่วมในภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี จะเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องมีระบบพยากรณ์ล่วงหน้าที่แม่นยำ เพื่อจะได้มีแผนรับมือในการบรรเทาความเสียหาย รวมถึงการประชาชนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ ไม่ใช่เพียงแค่การรอการแจ้งเตือนจากหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น” 

และมองว่า การบริหารจัดการน้ำของภาคอีสาน ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สังเกตได้ว่าในช่วงฤดูฝน จะมีปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีค่อนข้างมาก จนทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก พอเข้าสู่ฤดูแล้งก็เกิดการขาดแคลนน้ำในทุกปี จึงควรมีการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำโดยส่งเสริมให้มีการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลางเพิ่มมากขึ้น เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งและยังเป็นการลดปริมาณมวลน้ำที่จะไหลลงมาสู่จังหวัดอุบลราชธานีในช่วงฤดูน้ำหลาก 

นอกจากนี้ควรมีระบบการพยากรณ์น้ำที่มีความถูกต้องและแม่นยำ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับหน่วยงานและประชาชนได้ทราบเพื่อวางแผนในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น จะสามารถลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

6B005DE8 7721 4221 A807 E488AEB979B1

ขอบคุณข้อมูล(บางส่วน)จาก : ศูนย์พัฒนาการสื่อสารภัยพิบัติ(ไทยพีบีเอส)