ผู้ว่าฯขอนแก่นขึ้น ฮ.บินตรวจสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์วิกฤติหนัก น้ำเกินความจุอ่าง 124% ท่วมหมู่บ้านเหนือเขื่อน

8ตุลาคม 2565 นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักชลประทานที่ 6 ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บินสำรวจสถานการณ์น้ำท่วมลุ่มน้ำพองในเขตอำเภออุบลรัตน์ อำเภอน้ำพองและเมืองขอนแก่น พบว่าน้ำพองได้เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง และบ้านเรือนประชาชนบางพื้นที่ ระดับน้ำเริ่มนิ่งและทรงตัว บางแห่งน้ำเริ่มเน่าเหม็น บางจุดระดับน้ำใกล้ล้นตลิ่งเจ้าหน้าที่จึงต้องเร่งเสริมแนวคันดิน เพื่อไม่ให้น้ำพองไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนแบะพื้นที่ทางการเกษตรในเขตอำเภอเมือง

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากการบินสำรวจอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์พบว่า ขณะนี้น้ำในอ่างอยู่ในระดับวิกฤติ โดยพื้นที่เหนือเขื่อนในเขตจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดหนองบัวลำภู น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนและถนนทางเข้าหมู่บ้าน คาดภายในระยะ 5 วันนี้ น้ำจะท่วมสูงขึ้นอีก 80 เซนติเมตร 

ทั้งนี้เขื่อนอุบลรัตน์ได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมและพายุ “โนรู”ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีมวลน้ำไหลหลากเข้าจนเต็มความจุอ่างเก็บน้ำในวันที่ 2 ตุลาคม 2565 จนถึงปัจจุบันยังคงมีมวลน้ำไหลเข้าถึง 187 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ระบายออกได้เพียง 41 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีระดับน้ำ 3,010 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 124 เกินระดับเก็บกัก 1.49 เมตร เกินความจุ 578.93 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้เขื่อนอุบลรัตน์ได้มีการระบายน้ำแบบขั้นบันได โดยวันที่ 5 ต.ค. ระบายอยู่ที่วันละ 38 ล้าน ลบ.ม., วันที่ 6 ต.ค.ระบายอยู่ที่วันละ 43 ล้าน ลบ.ม., วันที่ 7 ต.ค.ระบายอยู่ที่วันละ 48 ล้าน ลบ.ม., วันที่ 8 ต.ค.วันนี้ระบายอยู่ที่วันละ 53 ล้าน ลบ.ม. และ พรุ่งนี้วันที่ 9 ต.ค.เป็นต้นไประบายอยู่ที่วันละ 54 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งจะส่งผลกระทบกับประชาชนในลุ่มน้ำชีตั้งแต่ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร 

สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการหน่วงน้ำจากเขื่อนต่างๆ ที่ไหลลงมาสมทบแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้ ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชีด้านท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ให้เตรียมป้องกันระดับน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ 

5617CA9D D13A 4D05 9AFE 39F3C4038722

พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมทั้งปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ตลอดจนทำการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ และเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง