วันที่ 5 พ.ค.65 ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร สำนักงานชลประทานที่ 11 จังหวัดสมุทรปราการ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล พร้อมด้วยนายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือ “ฤดูฝนปี65” พื้นที่ “จังหวัดสมุทรปราการ” โดยมีนายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่11 ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาที่เกี่ยวข้อง รายงานสรุปผลการดำเนินงาน
ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุม 3 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ มีแหล่งน้ำต้นทุนจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ผ่านระบบคลองชลประทานฝั่งตะวันออกเข้าสู่พื้นที่ “จังหวัดสมุทรปราการ” และฉะเชิงเทราที่คลองสิบสามและคลองบึงฝรั่งโดยทำการบริหารจัดการน้ำผ่านคลองชลประทานจำนวน 15 สาย ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำอีก 11 แห่ง
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมรับมือ “สถานการณ์น้ำ” ด้วยการติดตามสภาพอากาศและสถิติปริมาณฝนย้อนหลัง นำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมกำหนดเกณฑ์เฝ้าระวัง และร่วมบูรณาการกับกรุงเทพมหานคร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันอย่างมีระบบ ติดตามตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทาน ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งทำการพร่องน้ำในคลองชายทะเลเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำพื้นที่เสี่ยงพร้อมใช้งานได้ทันที
ในการนี้ รองอธิบดีฯ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัดรายงานสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดให้รับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบอาคาร ชลประทาน ระบบโทรมาตร ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำสำรองให้เพียงพอ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึง “สถานการณ์น้ำ” เวลาการปิดเปิดประตูระบายน้ำช่วงน้ำทะเลหนุน ให้ประชาชนรับรู้รับทราบ เพื่อลดความกังวลของประชาชนและสร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน