ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น สาเหตุเนื่องจากมีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทยตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จำนวน 6 ถึง 7 ครั้ง ทำให้เกิดฝนตกหนัก มีน้ำป่าไหลหลาก เกิดอุทกภัยในพื้นที่ของลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง และลุ่มน้ำชี – มูล ประกอบกับในช่วงปลายเดือนกันยายน 2565 ได้รับอิทธิพลของพายุโนรู ทำให้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เกิดฝนตกหนัก มาซ้ำมาเติมพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่แล้ว
สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมชลประทาน น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2542
โดยให้คำนึงถึงความสัมพันธ์จากน้ำ 2 ทาง คือ น้ำเหนือจากเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท กับระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงซึ่งมักจะมาปะทะกันที่บริเวณตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ให้คำนวณถึงความสัมพันธ์และสอดคล้องของปัจจัย 2 ด้าน คือ
1.การคำนวณระยะเวลาการเดินทางของน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ที่จะลงมาก่อนถึงตอนเหนือของกรุงเทพฯเพื่อนำมาใช้ควบคุมการปล่อยน้ำของเขื่อนฯ ให้สามารถหลีกเลี่ยงการปะทะกันของน้ำ โดยพยายามผันน้ำเหนือไปลงทางแก้มลิงฝั่งตะวันออก
2.การพิจารณาวัน – เวลา และปริมาณการขึ้น – ลง ของระดับน้ำทะเล เพื่อสามารถปิดกั้นน้ำทะเลที่หนุนสุงให้มาสมทบกับน้ำจากทางเหนือได้เช่นเดียวกัน
พร้อมทั้งเร่งระบายน้ำ โดยใช้คลองลัดโพธิ์เป็นทางระบายน้ำเหนือให้ลงสู่ทะเลได้โดยเร็ว เพราะระยะทางสั้นเพียง 600 เมตร
ในส่วนของลุ่มน้ำชี-มูล ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้กรมชลประทานน้อมนำแนวทางพระราชดำริมาใช้ในการดำเนินการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งร่วมบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน และลดความเสียหายที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด