วันที่ 2 ต.ค.65 ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จ.พระนครศรีอยุธยา นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายยงยส เนียมทรัพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่และการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำเพิ่มเติมในช่วงฤดูน้ำหลากนี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกในการบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด โดยให้โครงการชลประทานในพื้นที่รับช่วงต่อการระบายน้ำให้สอดคล้องกัน โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลัก และได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกลเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม บริเวณประตูระบายน้ำตามแนวคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน คลองพระยาบรรลือ และคลองพระพิมล
พร้อมกำชับให้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำตลอดเส้นทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและเปิดทางให้น้ำไหลได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ได้รับผลกระทบจากฤดูน้ำหลากให้น้อยที่สุด
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ระบุว่า มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 32 จังหวัด ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิจิตร และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ มุกดาหาร บุรีรัมย์ และอำนาจเจริญ ภาคกลาง จังหวัดลพบุรี เพชรบูรณ์ สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี และนครปฐม ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว
ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ฝนรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.) ระหว่าง 2-11 ต.ค. 65 ดังนี้
2- 3 ต.ค. 65 ยังมีฝนตกต่อเนื่อง มีตกหนักบางจุดบางพื้นที่ ฝนมาช่วงเย็น-ค่ำ เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน
ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย
จึงทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.65 ทิศทางลมเริ่มเปลี่ยนแปลงทิศทาง เนื่องจากมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุม ทางภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ลมเริ่มเปลี่ยนทิศ เป็นลมตะวันออก มากขึ้น ฝนตอนบนเบาลงบ้าง ฝนจะยังตกบริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก