ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 45/2565 เรื่อง เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โนรู” ในช่วงวันที่ 28 – 30 กันยายน 2565 ทำให้เกิดฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ และภาคกลาง ส่งผลให้มีน้ำท่าหลากลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสัก ปริมาณมากขึ้น กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 2,600 – 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แล้วไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา
โดยกรมชลประทานได้พิจารณารับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกเต็มศักยภาพคลองที่สามารถรองรับน้ำได้ ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรา 2,600 – 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ 1 – 7 ตุลาคม 2565 ประกอบกับคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในช่วงวันที่ 30 กันยายน – 6 ตุลาคม 2565 ประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์เมตร
ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนมีแนวโน้มเกินความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด จึงจำเป็นต้องทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 และจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในอัตราไม่เกิน 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่เสี่ยง ดังนี้
1. แม่น้ำป่าสัก บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่เขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมประมาณ 1.20 – 1.50 เมตร และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน 0.25 – 0.50 เมตร
2. แม่น้ำเจ้าพระยา ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.30 – 0.60 เมตรบริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท อำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอป่าโมก และไชโย คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล อำเภอเสนา และผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคัน บริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ
2. เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
3. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบชลประทาน เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำเข้าคลองต่าง ๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพคลองชลประทานในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้
4. ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565
ขณะที่ลักษณะอากาศทั่วไป พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าวันนี้(1 ตุลาคม 2565) ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันตก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย
ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนทะเลมีคลื่นสูง 2–3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรงดออกจากฝั่งต่อไปอีก 1 วัน
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06:00 วันนี้ ถึง 06:00 วันพรุ่งนี้.
ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเลยหนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหารร้อยเอ็ด ชัยภูมิ
ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครสวรรค์อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี และราชบุรี
ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายกปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส
ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนองพังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง