14 ก.ย.2565 หากไม่มีภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการโฮมสเตย์ รวมตัวยื่นฟ้องกรมชลประทาน เรียกค่าเสียหายรวมกว่า 30 ล้านบาท โดยอ้างว่า บริหารจัดการน้ำลำเชียงไกรผิดพลาด จนเกิดน้ำท่วมและสร้างความเสียหายรุนแรง เราอาจลืมไปแล้วว่า ปลายเดือนกันยายนปี 2564 เกิดเหตุการณ์ที่สังคมต้องตั้งคำถามกับการทำงานของหน่วยงานสำคัญอย่าง กรมชลประทาน
เขื่อนแตกตรงไหน…เอาปากกามาวง
26 กันยายน 2564 สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข้อมูล อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างแตก เตรียมอพยพปประชาชนในพื้นที่ท้ายอ่าง
ก่อนจะมีคำชี้แจงจากนาย กิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา ว่าอ่างเก็บน้ำไม่ได้แตก แต่จงใจระบายน้ำเพื่อรักษาเสถียรภาพของเขื่อน หลังมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในปริมาณมาก
และคำชี้แจงอย่างเป็นทางการจากกรมชลประทานว่า อ่างเก็บน้ำแค่ “ชำรุด” ไม่ได้แตก จุดที่เกิดปัญหาคือ จุดที่มีไซด์งานก่อสร้าง อาคาร และทางระบายน้ำ โดยผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างไปได้แล้วร้อยละ 70 ขณะก่อสร้างมีฝนตกหนัก และน้ำจากตัวอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร มีปริมาณน้ำเกินความจุอ่างทำให้น้ำล้นสปิลเวย์ มาสมทบกับตรงจุดก่อสร้าง
ช่วงก่อสร้างใช้ทำนบดินกั้นขวางทางน้ำ เมื่อน้ำมากจึงกัดเซาะทำนบดินไซด์ก่อสร้าง ชำรุด น้ำจึงไหลลงตรงที่ก่อสร้างทางระบายน้ำ ซึ่งทำให้ดูเหมือนเขื่อนแตก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่
พร้อมย้ำว่า ทั้งนี้ ขอให้ประชาชน รับฟังข่าวสาร สถานการณ์น้ำ รวมไปถึงสภาพอากาศ จากทางหน่วยงานราชการเท่านั้น
ชาวบ้านคลางแคลงใจ…ทำไมไม่บอกว่าเขื่อนแตก
16 ก.ย. 2565 ผู้นำชุมชนในอำเภอคง จังหวัดนคราชสีมา ไม่สามารถเก็บความคลางแคลงใจไว้ได้ เขาให้ข้อมูลว่า เกือบ 1 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านได้แต่ตั้งคำถามว่า ทำไมกรมชลประทานไม่บอกพวกเขาว่า เขื่อนแตก เพราะหากบอก หรือมีคำเตือน ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2564 ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านอาจไม่รุนแรงขนาดนี้
เอกสารประกาศกองอำนวยการและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา แจ้งเตือนอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ฉบับที่ 2 ระบุรายชื่ออำเภอที่ต้องเตรียมรับน้ำ หรืออำเภอท้ายอ่าง 8 อำเภอ คือ โนนไทยพระทองคำ เมืองนครราชสีมา โนนสูง พิมาย ชุมพวง ลำทะเมนชัย และ เมืองยาง
ผู้นำชุมชนในตำบลตาจั่น อำเภอคง ตั้งคำถามว่าทำไมพวกเขาไม่ได้รับการแจ้งเตือน มีคำชี้แจงว่า อ.คงไม่ได้อยู่ในพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำ ชาวบ้านต่างสงสัยว่า มีการเบี่ยงทางน้ำเพื่อระบายน้ำมาทางพื้นที่อ.คง เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่ อ.พิมาย จริงหรือไม่
ผู้นำชุมชนรีบขับรถจากหมู่บ้านซึ่งอยู่ห่างจากอ่าง 80 กิโลเมตร เพื่อไปดูให้เห็นกับตา ก่อนพบว่ามวลน้ำมหาศาลต้องมาถึงพื้นที่แน่นอน จึงแจ้งชาวบ้านบ้างส่วนอพยพได้ทัน
แต่บางส่วนก็ต้องเจอกับความเสียหายที่ไม่ทันตั้งตัว อย่างวิสาหกิจชุมชนกลุ่มบ้านพักโฮมสเตย์รีสอร์ทอำเภอคง หรือฟาร์มแช่มชื่นโฮมสเตย์ บ้านพักเสียหาย ไฟฟ้าลัดวงจร เครื่องจักรเย็บผ้า และอุปกรณ์ต่างๆ เคลื่อนย้ายไม่ทันเพราะน้ำมาเร็วและแรงมาก รวมทั้งฟาร์มปลา ฟาร์มกุ้ง ในเนื้อที่รวมกว่า 70 ไร่ถึงตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดบริการ มูลค่าความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท
จริงหรือไม่…ว่านี่คือเหตุผลที่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานไม่ยอมรับว่าบริหารงานผิดพลาด
27 ก.ย. 64 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกมาให้ข่าวว่า อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรชำรุด ถือเป็นความประมาทอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถเรียกร้องขอค่าชดเชยหรือค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เป็นจริงทั้งหมดได้จากกรมชลประทานได้
ทั้งนี้ กรมชลประทานหรือรัฐบาลจะนำเงินภาษีของประชาชนคนทั้งประเทศมาจ่ายชดเชยให้กับชาวบ้านดังกล่าวไม่ได้ หากแต่ต้องไปไล่เบี้ยเอากับพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทั้งหมดตั้งแต่อธิบดียันเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงจะชอบ.
แต่ผ่านมาเกือบ 1 ปีก็ไม่มี ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่กล้าออกมาฟ้องร้อง และยอมรับเพียงค่าชดเชยเยียวยาน้ำท่วม
ฟ้องให้เป็นคดีตัวอย่าง…ชาวบ้านมีสิทธิชี้จุดบกพร่องกรมชลประทาน
นายวีรวิทย์ เชื้อจันอัด เจ้าของฟาร์มแช่มชื่นโฮมสเตย์ เปิดเผยว่า เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา เขาพยายามเรียกร้องความับผิดชอบจากกรมชลประทาน และได้ยื่นหนังสือต่อตัวแทนกรมชลประทาน ซึ่งรับปากว่าจะตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ สุดท้ายเรื่องเงียบ ทำให้เขาตัดสินใจ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ให้กรมชลประทานชำระค่าสินไหมเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท
เขาคาดหวังว่านี่จะเป็นคดีตัวอย่างที่ทำให้ชาวบ้านอีกหลายร้อยครอบครัว กล้าออกมาชี้ให้เห็นว่าปัญหาน้ำท่วมที่ก่อให้เกิดความเสียหาย รุนแรงผิดปกติ เกิดจาการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของกรมชลประทาน ซึ่งต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ …