ในช่วงค่ำที่ผ่านมา (8 ก.ย. 65) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล นายวิทยา แก้วมีผู้อำนวยการกองแผนงาน และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม 9 เครื่อง เสริมการระบายน้ำที่สถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ จังหวัดปทุมธานี เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับน้ำในคลองรังสิตฯเริ่มลดลงจากวานนี้ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวปทุมธานี
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังเจ้าหน้าที่เร่งทำการติดตั้งตลอดทั้งคืน จนแล้วเสร็จช่วงเช้าพร้อมเดินเครื่องสูบ 6 เครื่อง ส่วนที่เหลือได้เร่งติดตั้งจนแล้วเสร็จและเดินเครื่องในช่วงบ่ายที่ผ่านมา เสริมประสิทธิภาพในการเร่งระบายน้ำในคลองรังสิตฯ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วยิ่งขึ้นเมื่อรวมกับเครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งอยู่เดิม 11 เครื่อง จะทำให้สามารถเดินเครื่องได้รวม 20 เครื่อง
ด้านนายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการเร่งสูบน้ำในช่วงเช้าที่ผ่านมา ทำให้ระดับน้ำในคลองรังสิตฯ ลดลงจากเมื่อวานนี้ (7 ก.ย. 65) ประมาณ 25 เซนติเมตร ทำให้สามารถยกบานระบายน้ำของสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ขึ้นเพื่อเร่งการระบาย ควบคู่กับการสูบน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ
นอกจากนี้ กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 12 ได้ลดการระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเช้าวันนี้ เมื่อเวลา 06.00 น. มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์1,448 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยลดผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่าง ด้านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังคงอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน เนื่องจากปริมาณน้ำส่วนหนึ่งที่ระบายจากเขื่อนทั้ง 2 แห่งดังกล่าว จะไหลลงสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ด้วย
อธิบดีกรมชลประทาน ได้เน้นย้ำว่า “หากพื้นที่ใดมีปัญหา กรมชลประทาน พร้อมที่จะเข้าร่วมแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายโดยเร็วที่สุด ด้วยการใช้เครื่องจักร เครื่องมือ ที่ได้เตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อได้รับแจ้งว่า จุดใดมีความเดือดร้อน ต้องการให้สนับสนุนเครื่องมืออะไร เราพร้อมเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที”