GISTDA เปิดเผยข้อมูลภาพจากแผนที่แสดงสถานการณ์น้ำท่วมช่วงเดือนสิงหาคม 2554 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมขัง 5.59 ล้านไร่ และเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมในเดือนสิงหาคมปีนี้ (2565) พบว่าประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมขังแล้ว 1.85 ล้านไร่ หรือต่างกันราวๆ 3 เท่าตัว
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลกลับไปในช่วงปี 2563 และปี 2564 ของเดือนสิงหาคม จะพบว่าในขณะนั้นประเทศไทยมีปริมาณน้ำท่วมขังน้อยกว่าปี 2565 สาเหตุหลักๆ เป็นเพราะภัยแล้ง อีกทั้งปีนี้ (2565) ฝนมาเร็วซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าปีนี้ประเทศไทยยังไม่เจอกับพายุแบบทางตรงนะครับ ที่ผ่านมาก็จะเป็นแค่ทางอ้อมเท่านั้นที่ทำให้ได้รับผลกระทบทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศ ขณะนี้หลายหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น สทนช. กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สสน. ปภ. รวมถึง GISTDA เป็นต้น เพื่อร่วมกันวางแผนและประเมินสถานการณ์ต่อไป
หากมองย้อนกลับไปปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่มีเหตุการณ์มหาอุทกภัยอย่างรุนแรง สาเหตุหลักๆ เกิดจาก…เกิดพายุหลายลูกเคลื่อนตัวผ่านและส่งผลให้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลโดยตรง ซึ่งยังไม่นับรวมร่องมรสุมอื่นๆ ที่พาดผ่านประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงลมประจำถิ่น ที่ส่งผลให้เกิดฝนตกอย่างหนักในหลายพื้นที่
ฝนที่มาเร็วกว่าปกติ ทำให้ปริมาณฝนตกสะสมทั้งประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากถึง 35%
ช่วงครึ่งปีแรก เกิดปรากฏการณ์ลานีญาที่ค่อนข้างรุนแรง ทำให้มีปริมาณฝนมากกว่าปกติทุกเดือน
เกิดน้ำทะเลหนุนบ่อยครั้ง ส่งผลให้การระบายน้ำค่อนข้างยาก และเป็นไปอย่างล่าช้า
เขื่อนใหญ่ๆ อย่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอย่างต่อเนื่องในปริมาณสูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำผลให้ไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทัน เนื่องจากบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
มีสิ่งกีดขวางทางน้ำมากมายทั้งจากธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
ส่องสถานการณ์น้ำ ปี 2565 ณ ขณะนี้
เดือนสิงหาคม ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมขังแล้วกว่า 1.85 ล้านไร่ ถือว่ายังน้อยกว่าอยู่ 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2554
เกิดปรากฏการณ์ลานีญาเช่นกัน ทำให้ฝนมาเร็ว ส่งผลให้หลายพื้นที่ของประเทศมีปริมาณน้ำฝนสะสมสูงขึ้น แต่ไม่รุนแรงเท่าปี 2554
ในช่วง 1 – 2 เดือนนี้ อาจเกิดพายุขึ้น 2-3 ลูก ซึ่งบางลูกประเทศไทยอาจไม่ได้รับอิทธิพลโดยตรง
สิ่งกีดขวางทางน้ำ เช่น ผักตบชวา ต้นไม้ กิ่งไม้ ขยะฯ ได้รับการจัดเก็บอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ
หลายหน่วยงานด้านน้ำเร่งระบายน้ำลงสู่อ่าวไทย ในช่วงที่ไม่เกิดน้ำทะเลหนุนสูง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกช่วงเวลา
GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียมมากกว่า 1 ดวง เพื่อวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง โดยท่านสามารถตรวจสอบพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://flood.gistda.or.th