กรมชลประทานระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มากที่สุด
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ระดมเครื่องจักรเครื่องมืออาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เร่งความช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง อาทิ ที่จังหวัดตาก สำนักงานชลประทานที่ 4 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 5 เครื่อง เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร บริเวณหมู่ที่ 1,2,3,4,5,7,9,12 ต.ยกกระบัตร อ.สามเงา พร้อมวางถุงบิ๊กแบค(Big Bag) 30 ถุง บริเวณคันดินกั้นน้ำหน้าวัดวังน้ำผึ้ง หมู่ที่ 3 ต.วังจันทร์ ที่ได้ทรุดตัวลง เพื่อป้องกันตลิ่งเสียหายเพิ่มเติมรวมทั้งลดปริมาณน้ำที่ไหลเข้าท่วมพื้นที่ พร้อมประสานไปยังเขื่อนกิ่วลม เพื่อปรับลดการระบายน้ำลงทำให้ปัจจุบันสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว
ส่วนที่จังหวัดอ่างทอง สำนักงานชลประทานที่ 12 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง เร่งสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ที่กำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิต ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี ต.จำปาหล่ออ.เมืองอ่างทอง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำอีก 10 เครื่อง เร่งการระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนให้มากที่สุด
ด้านจังหวัดปทุมธานี สำนักงานชลประทานที่ 11 ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมใช้งานของสถานีสูบน้ำในพื้นที่รับผิดชอบ พร้อมพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ เพื่อลดระดับน้ำภายในคลอง เตรียมรองรับปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้นอีกในระยะต่อไป
ที่จังหวัดปราจีนบุรี สำนักงานชลประทานที่ 9 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง บริเวณโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หมู่ที่ 12 ต.ท่างาม อ.เมืองปราจีนบุรี เร่งสูบระบายน้ำที่ท่วมขัง หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องจนส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้นไหลเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนต่างๆ
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เร่งเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พร้อมติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำจากฝนตกต่อเนื่อง ตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การระบายน้ำทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด