วันนี้ (6 สค. 2565) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายบุรีรัตน์ วงศ์บุรีเลขานุการกรม และ นายวิทยา แก้วมี ผู้อำนวยการกองแผนงาน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช
โดยมี นายชูศักดิ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 15 นายรุทร์ อินนุพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 16 นายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 15 นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 16 และ นายพิทักษ์พงษ์ ติ๊บแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครศรีธรรมราช และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ พร้อมบรรยายสรุปความก้าวหน้าโครงการ ณ ห้องประชุมสำนักงานชั่วคราวสัญญาที่ 3 โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตเมืองนครศรีธรรมราช ที่เกิดจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตอนบนของคลองท่าดี และไหลลงคลองต่างๆ ก่อนไหลลงสู่ทะเลที่คลองท่าชักและคลองปากนคร ที่มีขีดความสามารถในการระบายน้ำรวมกันเพียง 268 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) ในขณะที่ปริมาณน้ำในคลองท่าดี มีปริมาณมากถึง 750 ลบ.ม./วินาที
กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการขุดคลองระบายน้ำอ้อมตัวเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลด้วยการขุดลอกคลองระบายน้ำ 3 สาย ความยาวประมาณ 18.64 กิโลเมตร โดยสายที่ 1 สามารถระบายน้ำได้ในอัตรา 650 ลบ.ม./วินาที สายที่ 2 ระบายน้ำได้ในอัตรา 195 ลบ.ม./วินาที และสายที่ 3 ระบายน้ำได้ในอัตรา 750 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับการขุดเพิ่มประสิทธิภาพคลองวังวัว ความยาวประมาณ 5.90 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 850 ลบ.ม./วินาที และการขุดเพิ่มประสิทธิภาพคลองท่าเรือ-หัวตรุดความยาวประมาณ 11.90 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 100 ลบ.ม./วินาที
รวมถึงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำ จำนวน 7 แห่ง หากโครงการฯแล้วเสร็จ จะมีพื้นที่รับประโยชน์สองฝั่งคลอง 17,400 ไร่ สามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตเมืองนครศรีธรรมราช และลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณร้อยละ 90 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง คิดเป็นครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 32,253 ครัวเรือน รวมทั้งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในฤดูแล้งได้มากถึง 5.50 ล้านลูกบาศก์เมตร
ในการนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้เร่งรัดการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้งานก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้และให้ประชาชนชาวนครศรีธรรมราชได้ใช้ประโยชน์ต่อไป