เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่า เวลา 13.20 น. เกิดเหตุแผ่นดินไหว ศูนย์กลางในประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ความลึก 10 ก.ม. ผลกระทบรู้สึกสั่นไหวในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และกทม.และปริมณฑล
จากนั้นกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานอาฟเตอร์ช็อก เหตุการณ์แผ่นดินไหว 28 มี.ค.2568 เกิดแผ่นดินไหว จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศเมียนมา พร้อมรายงานอาฟเตอร์ช็อกว่าเกิดทั้งหมด 12 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 เวลา 13.32 น. ขนาด 7.1
ครั้งที่ 2 เวลา 13.45 น. ขนาด 5.5
ครั้งที่ 3 เวลา 14.24 น. ขนาด 4.0
ครั้งที่ 4 เวลา 14.37 น. ขนาด 5.2
ครั้งที่ 5 เวลา 14.42 น. ขนาด 3.9
ครั้งที่ 6 เวลา 14.57 น. ขนาด 4.7
ครั้งที่ 7 เวลา 15.21 น. ขนาด 4.0
ครั้งที่ 8 เวลา 15.45 น. ขนาด 3.7
ครั้งที่ 9 เวลา 15.52 น. ขนาด 3.8
ครั้งที่ 10 เวลา 16.26 น. ขนาด 4.3
ครั้งที่ 11 เวลา 16.30 น. ขนาด 4.5
ครั้งที่ 12 เวลา 16.55 น. ขนาด 4.9
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้หลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน ล่าสุดพบอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่กำลังก่อสร้าง พบว่าอาคารได้พังถล่มลงมาทั้งหมด
เวลา 15.40 น.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ลงนามประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เรื่อง เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
เวลา 16.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารถล่มย่านจตุจักร กรุงเทพฯ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่ประเทศเมียนมา ทำให้แรงสั่นสะเทือนส่งผลกระทบจนตึกสูงในย่านนี้พังถล่ม
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ นายภูมิธรรม ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิกู้ภัย เจ้าหน้าที่ทหาร และวิศวกรโครงการ ร่วมกันประเมินสถานการณ์และวางแผนช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ภายในซากอาคาร
นายภูมิธรรม เผยว่า ต้นทางของแผ่นดินไหวมาจากประเทศพม่า ทุกคนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน และเหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 100 ปี ในกรุงเทพมหานครเรากังวลว่าอาจจะมีอาฟเตอร์ช็อกอีกครั้ง
ทางด้านความคืบหน้าของการช่วยเหลือ ณ ขณะนี้ พบว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย และมีผู้ที่ติดอยู่ภายในซากอาคารอีกกว่า 81 ราย โดยมีการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตออกมาแล้ว 1 ราย ขณะนี้หน่วยกู้ภัยได้ระดมกำลังจากทหาร, ตำรวจ, และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพหลักในการทำงาน
อุปสรรค หน้างานในตอนนี้คือการตรวจสอบจุดที่อาจมีผู้รอดชีวิตอยู่ เนื่องจากการใช้เครื่องมือหนักอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตคนที่ยังติดอยู่ในซากอาคาร เจ้าหน้าที่จึงต้องระมัดระวังการเข้าไปเพื่อไม่ให้เกิดอันตราย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีซึ่งขณะนี้อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการปิดโรงเรียนทั่วประเทศ และสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขตั้งศูนย์ความปลอดภัยเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้า
การค้นหาและกู้ภัยยังคงดำเนินต่อไป และคาดว่าจะใช้เวลาหลายวันกว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ได้ครบทุกคน