นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา พร้อมคณะ และหน่วยงานในสังกัดกรมป่าไม้ ทสจ.ฉะเชิงเทรา ฝ่ายปกครอง นายก อบต.คลองตะเกรา และ ตำรวจ สภ.ท่าตะเกียบ ร่วมประชุม ติดตามข้อมูลกรณีตรวจพบบริษัทต่างชาติซึ่งเป็นของคนจีนถือครองที่ดินและเข้ามาทำสวนทุเรียนในพื้นที่ บ้ายห้วยนา ม.20 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา
ในที่ประชุมได้มีการสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา หน่วยงานจากกรมป่าไม้ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะเครา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยแต่ละฝ่ายให้ข้อมูลถึงภารกิจของตัวเอง พร้อมรูปภาพประกอบ
เช่น ตัวแทนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดฉะเชิงเทรา แจ้งว่า การดำเนินการปักเสาพาดสายไฟ เพื่อประโยชน์ของชาวบ้านในพื้นที่ แต่ทางบริษัทฯ ได้ยื่นขอใช้ไฟฟ้าในนามนิติบุคคล จึงดำเนินการไปพร้อมกัน
ด้านนายบุญนาค พรพจน์ธนมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองตะเกรา ระบุว่า การเข้าจัดการรูปแบบสวน และที่ดิน ในแปลงดังกล่าว ไม่ได้มีการขออนุญาตดำเนินการใดๆจากทาง อบต.คลองตะเกรา
จากนั้น ทางคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา จึงลงพื้นที่ไปที่สวนทุเรียนแปลงดังกล่าว เพื่อดูกายภาพและสิ่งที่ปรากฏ พบว่า มีการขุดบ่อน้ำลึกราว 30 เมตรกว้างไม่ต่ำกว่า 50 เมตร จำนวน 1 บ่อ ซึ่งทาง อบต.คลองตะเกรา แจ้งว่า ไม่ได้มีการขออนุญาตขุดดิน ถมดิน กับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พรบ. ขุดดิน-ถมดินฯ ที่รับผิดชอบ / มีการปิดลำลางร่องน้ำจากชายเขา เบี่ยงทางให้น้ำเข้าไปในสระน้ำที่ขุดไว้ / มีการเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ /มีการปลูกสร้างโรงเรียน เพื่อใช้เก็บอุปกรณ์และเป็นที่พักคนงาน และอื่นๆ คณะกรรมาธิการฯ จึง แนะนำให้ประสาน สนง.ทรัพยากรน้ำบาดาล / กรมเจ้าท่า ฯลฯ เข้าดำเนินตรวจสอขฃบ และแจ้งข้อกล่าวหาไปในคราวเดียวกัน
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ระบุว่า ขณะนี้พื้นที่ภาคตะวันออก กำลังถูกคุกคามจากการบุกรุก แผ้วถางป่า เพื่อทำสวนทุเรียนอย่างมาก เช่น พื้นที่อำเภอท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา แสดงให้เห็นว่า กลุ่มทุนจีนพยายามเข้ามาถือครองที่ดิน ด้วยการซื้อที่ดินผ่านบริษัทเจ้าของเดิม และใช้คนไทยที่เป็นผู้ร่วมถือหุ้นในบริษัท เข้าซื้อสิทธิ์ เพื่อเลี่ยงกฎหมาย และจากภาพที่ปรากฏ และข้อมูลที่ได้รับในวันนี้ น่าตกใจว่า ที่ดินที่ภาครัฐจัดสรรให้กับประชาชนผ่านโครงการ คทช. ตกไปอยู่ในมือกลุ่มทุนจีน และยังพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า คนมีชื่อถือครองสิทธิ์ คทช. มีหลายคนมาจากจังหวัดจันทบุรีและตราด แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไล่ตรวจสอบไปยังชื่อบุคคลดังกล่าว เจ้าตัวแจ้งว่า ไม่เคยขอใช้สิทธิ์ถือครองที่ดินในบริเวณที่กำลังปรากฏเป็นข่าวอยู่ ณ ขณะนี้
และคนที่มีชื่อครองที่ดิน ให้ข้อมูลว่า เคยทำงานในบริษัทที่เป็นเจ้าของที่ดินก่อนหน้านี้ และทางบริษัทขายต่อให้กับกลุ่มทุนจีน จึงไม่ทราบว่า ทำไมชื่อของตัวเองจึงไปปรากฏเป็นผู้ถือครองที่ดินได้
นายชีวะภาพ ระบุว่า ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบังคับใช้กฎหมายป่าไม้อย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด การยึดคืนที่ดินกลับมาและตัดสิทธิ์คนที่ได้รับการจัดสรรที่ดินจากภาครัฐ ไม่อาจทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไปได้ ควรต้องใช้ยาแรงด้วยการประสาน ปปง. เข้ามาตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินควบคู่ เพราะเชื่อว่ามีขบวนการบางกลุ่มต้องการใช้ที่ดินและสวนทุเรียน ดำเนินการเพื่อให้เงินบางอย่างถูกกฎหมายเพราะทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่ราคาค่อนข้างสูงในแต่ละปี