กรมชลประทานเตรียมระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มอีกในสองวันนี้ หลังน้ำเหนือไหลบ่าลงมาเพิ่ม เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อน จ.อ่างทอง-อยุธยา อาจเผชิญน้ำท่วมก่อน
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เช้าวันนี้( 25 ก.ค. 65 )ว่า แม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 996 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 6.07 เมตร ควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ในอัตรา 747 ลบ.ม./วินาที ยังไม่กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 จะมีปริมาณน้ำเเม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ และปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะเเกกรังที่ไหลผ่านสถานี Ct.19 ซึ่งไหลมารวมกันลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ในเกณฑ์ประมาณ 1,050 – 1,150 ลบ.ม./วินาที
จึงมีความจำเป็น ต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 850 – 1,000 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.60 – 0.80 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา(แม่น้ำน้อย)
โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ และหากมีแนวโน้มว่าปริมาณน้ำเหนือจะเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,000 ลบ.ม./วินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป
ด้านนาย กฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผอ.สนง.ชลประทานที่ 12 บอกว่า วันนี้ (25/7/65)ระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่ 747 ลบ.ม./วินาที และจะเพิ่มการระบายน้ำเพิ่มไปอีก คือ 850-1,000 ลบ.ม./วินาที
เบื้องต้นระบายน้ำเข้าพื้นที่รับน้ำ ฝั่งตะวันตก-ตะวันออก เหนือเขื่อนเจ้าพระยาแล้ว และการระบายน้ำเพิ่มเติม ที่ 850 ลบ.ม./วินาที ขึ้นไป จะทำให้พื้นที่ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง /ต.สีกุก อ.บางบาล – ต.หัวเวียง อ.เสนา – ต.กุฎี ต.ลาดชิด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและถูกน้ำท่วมก่อนพื้นที่อื่น โดยจะมีน้ำท่วมประมาณ 60-80 ซม. ซึ่งจะพยายามระบายน้ำท้ายเขื่อนไม่ให้เกิน 1,000 ลบ.ม./วินาทีในระยะนี้
ทั้งนี้ กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์อย่างเต็มศักยภาพ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้แจ้งเตือนไปยัง 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยาสุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิดแล้ว